ร้อยใจรักษ์ พลิกพื้นที่แห่งชีวิต จากดินแดนที่ถูกตรา สู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง

ร้อยใจรักษ์ การพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด ด้วยพลังของเครือข่ายมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง-ป.ป.ส. ร่วมพลิกชีวิต สร้างโมเดลการทำรายได้จากการเกษตรคุณภาพสูง

19 ปีก่อน พ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ของประเทศ ถูกจับกุม

15 ปีก่อน ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง หลังจากเขาติดคุกไปได้ 4 ปี

6 ปีก่อน เขาถูกจับอีกครั้ง ด้วยข้อหาตัวการติดต่อซื้อ-ขายยาไอซ์

5 ปีก่อน เกิดโครงการ “ร้อยใจรักษ์” บนพื้นที่ ที่แทบทุกหย่อมบ้านมีการเสพ-ขาย

3 ปีก่อนศาลอุทธรณ์ ตัดสินยืน ให้พ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่คนเดิม จำคุกตลอดชีวิต และมีผู้ต้องหาบางรายถูกตัดสินประหารชีวิต

คดีใหญ่ครึกโครมเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2562 เกี่ยวข้องกับมูลค่ายาเสพติดกว่า 200 ล้านบาท ที่มีผู้ต้องหาหลัก คือ เล่าต๋า แสนลี่ และครอบครัว ญาติมิตร 5 ราย

เป็นคดีที่เชื่อมโยงเครือข่ายการค้ายาเสพติดในประเทศ กับนักขนยาในเขตประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีเส้นทางข้าม-เข้า-ออก ประเทศตามธรรมชาติ ราวกับเส้นทางกองทัพมด ผ่านเข้าสู่ประเทศไทยโยงใย-กระจายไปถึงผู้ค้ารายย่าย และผู้เสพ

ก่อนที่จะมีผู้ชักใย สร้างเครือข่ายค้าขายยาไอซ์ ยาบ้า หนาแน่น ทุกหย่อมหญ้ามากขึ้น ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เกิดโครงการพัฒนาพื้นที่ “ร้อยใจรักษ์” และที่นี่-คือที่เกิดเหตุ บ้านห้วยส้าน, บ้านเมืองงามเหนือ, บ้านหัวเมืองงาม และบ้านเมืองงามใต้ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักงาน ป.ป.ส. และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง องค์กรที่ก่อเกิดโครงการพัฒนาดอยตุง มากว่า 3 ทศวรรษ

“…เป็นที่รู้กันว่าในพื้นที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งผู้เสพ ผู้ค้ารายใหญ่ รายย่อย ปัญหามีมานานและเรื้อรัง ผู้ค้ารายใหญ่และรายย่อยได้ถูกดำเนินการโดยกฎหมายแล้ว แต่ถ้าไม่ได้ทำการป้องกันหรือดำเนินการด้านอื่นในพื้นที่เลย ก็จะมีผู้ค้ารายใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา ถ้าหากใช้การปราบปรามอย่างเดียว อาจสร้างความไม่ไว้วางใจและสร้างความต่อต้านและเกลียดชังเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีก…”

“…เมื่อห้ามไม่ให้ทำผิดกฎหมาย เขาจะทำอะไร จึงเกิดโครงการร้อยใจรักษ์ เพื่อร้อยใจทุกคนเข้ามาร่วมกัน ร้อยใจเพื่อความเจริญของชุมชน และสังคม…มีคำถามบ่อย ว่าช่วยคนค้ายาทำไม คำตอบคือ น้ำกิน น้ำใช้ และอาชีพ เป็นสิทธิพื้นฐานที่คนไทยทุกคนควรมี เราจะไม่ให้น้ำกินน้ำใช้เขาหรือ เขาไม่ใช่คนไทยหรือ ตรงนี้ต้องแยกให้ถูก ว่าคนทำผิด ก็ต้องจัดการตามกฎหมาย ส่วนคนอื่นเราก็ต้องพัฒนาไปด้วย”

“…ต้องมาช่วยกันหาว่า การบังคับใช้กฎหมาย การปราบปรามและการพัฒนา จะไปด้วยกันได้อย่างไร ร้อยใจรักษ์ จึงได้เริ่มต้น ด้วยการที่คุณชาย (ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล) เข้ามาหยั่งเสียงในพื้นที่ก่อน…” สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงมีพระกระแสรับสั่ง ตอนหนึ่ง ต่อคณะกรรมการอำนวยการโครงการร้อยใจรักษ์ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561

ในหนังสือรายงานประจำปี ของโครงการร้อยใจรักษ์ ระบุไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเสด็จฯ ในพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการ 7 ครั้ง (2561-2563) ทั้งพบปะประชาชน ทอดพระเนตรความคืบหน้าโครงการด้านต่าง ๆ รวมทั้งหารือร่วมกับข้าราชการที่ร่วมงานในพื้นที่

หนังสือรายงานผลการดำเนินงานโครงการร้อยใจรักษ์ ระบุไว้ตอนหนึ่งด้วยว่า ครั้งหนึ่งทรงมีพระกระแสรับสั่งกับข้าราชการ ชาวบ้าน ที่เข้าร่วมประชุมตอนหนึ่งว่า “…อยากพบกัน เห็นรอยยิ้มแบบนี้ ดีกว่าพบกันที่ศาล” และ “…เราต้องมี The rule of law และต้องแก้ที่รากของปัญหา…”

พื้นที่ร้อยใจรักษ์ ถูกวางผังโครงสร้างพื้นที่พัฒนา และพื้นที่ชีวิต ให้คนในชุมใหม่ มีคนที่เข้าร่วมร้อยใจเป็น “อาสาทำดี” ที่เคยเป็นทั้งผู้ค้า-ผู้เสพ รุ่นละ 60 คน เข้าบำบัดจิตใจ ฝึกอาชีพ ปัจจุบัน มีเครือข่ายแล้ว 8 รุ่น กว่า 460 คน จากจำนวนประชากร 4,709 คน ในพื้นที่ 3.7 หมื่นไร่

ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ 12-14 สิงหาคม 2565 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ สนทนากับกลุ่มเกษตรกร เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ด้านเกษตรกร มีทั้งสวนมะม่วง สวนส้มโชกุน สวนฝรั่ง สวนลิ้นจี่ สตรอว์เบอรี่ เคปกูสเบอรี่ แปลงนาข้าวและโรงสีข้าวพันธุ์ฮิโต เกษตรกรบางส่วนลงเริ่มทดลองปลูกทุเรียน

สมูบรณ์

สมบูรณ์ แสนจันทร์ อดีตผู้กลับใจสู่วงจรสวนส้ม 25 ไร่ ร่วมกับเพื่อนในชุมชนอีก 7 ราย เป็นวิสาหกิจชุมชนสวนส้ม ที่มีมูลค่าการขาย “ยกสวน” เคยสร้างได้สูงสุดถึงปีละ 4.8 ล้านบาท แต่ก็มีบางฤดูกาล ที่เขาต้องยอมพ่ายแพ้ให้แก่ธรรมชาติ อาจได้รายได้ต่ำกว่านี้บ้าง

“ปลูกส้ม นอกจากได้เงิน ยังได้ความสุข ได้ประสบการณ์ ได้เป็นพ่อค้าเจรจาต่อรอง ได้สอนคนอื่น ๆ ในการทำสวนผลไม้ที่มีคุณภาพ ถ้าไม่หันมาทำสวนส้ม เราคิดว่าลูกหลานรุ่นต่อไปเขาจะอยู่อย่างไร พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สีแดง พื้นที่ยาเสพติด เราต้องสร้างอาชีพ ให้ลูกหลานได้เดินตาม ไม่เช่นนั้นลูกหลานจะกลับไปติดยาเหมือนเดิม” เจ้าของสวนวัย 43 ปี กำส้มไว้ในมือแน่น เล่าถึงแรงดาลในใจที่ทำให้ต้องพลิกชีวิต

ดอกผลของ “ร้อยใจรักษ์” ยังมีงานด้านปศุสัตว์ เลี้ยงหมู ไก่ และโค รวมทั้งไร่ชา-เก๊กฮวย ข้าวโพด ทุกผลิตผล-ผลิตภัณฑ์หัตกรรม ถูกนำมาขายที่หน้าร้าน ตลาดร้อยใจรักษ์ ซึ่งมีแปลงผัก แปลงดอกไม้ ที่สร้างเป็นจุดท่องเที่ยว และสถานที่เช็กอินใหม่ ของทำเลบ้านห้วยส้าน…พื้นที่ที่เคยถูกตราบาปว่า คนที่มาจากย่านนี้ ไม่กล้าสบตากับคนภายนอก เพราะถูกมองว่ามาจากเขตค้ายาเสพติด

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าความหวังและความท้าทาย สำหรับโครงการร้อยใจรักษ์ ไว้ว่า “เราต้องการพัฒนาให้ได้ผลเร็วขึ้น ให้คนมีรายได้สูงขึ้นกว่าทุกวันนี้ อย่างเป็นรูปธรรม โครงการร้อยใจรักษ์ เป็นฟ้าใหม่สำหรับผู้คนที่นี่ ต้องช่วยให้เขามีความพร้อมสำหรับการมีอาชีพใหม่ เราตั้งเป้าที่สูงและท้าทายมาก ๆ ว่า อยากจะเห็นพื้นที่แห่งนี้สร้างรายได้สัก 450 ล้านต่อปี ในอนาคตข้างหน้า”

ม.ล.ดิศปนัดดา พาไปชมโรงงานที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงให้การสนับสนุน ทั้งเจ้าหน้าที่ฝึกอบรม และลงทุนเครื่องจักรร่วมกับ ป.ป.ส. มีทั้งโรงสีข้าวพันธุ์อิโต ที่เป็นข้าวเฉพาะพื้นถิ่น เป็นข้าวเจ้ามีความเหนียวนุ่มเหมือนข้าวญี่ปุ่น ที่ให้พลังงานสูงเหมือนข้าวเหนียว ตั้งใจจะเจาะตลาดโชห่วยเพิ่มเติมจากการขายในชุมชน โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร โรงแช่แข็งผลิตภัณฑ์เกษตร เขาคาดการณ์ว่า “อีก 5 ปี ข้างหน้า อยากจะให้โมเดลการพัฒนาแบบดอยตุง นำมาปรับใช้กับพื้นที่ห้วยส้านโมเดล ในพื้นที่ร้อยใจรักษ์ไปด้วย”

“นอกจากนี้ยังมีพื้นที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านอีกทาง คือ พยายามให้ตลาดร้อยใจรักษ์ และห้วยส้าน เป็นพื้นที่แลนด์มาร์ก ท่องเที่ยว ที่มีทั้งสวนผลไม้ สวนดอกไม้ และพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนให้ทันสมัยในอนาคต” ม.ล.ดิศปนัดดากล่าว


อนึ่ง โครงการร้อยใจรักษ์ ระยะแรก กำหนดไว้ 12 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2561-2572 พร้อมขยายผลในพื้นที่ใกล้เคียง ในหมู่บ้านชายแดนภาคเหนือ อีก 4 จังหวัด ในอนาคตระยะยาว