ญี่ปุ่น เสนอเป็นตัวกลางจัดประชุมเจ้าหนี้ศรีลังกา รักษาสมดุลอำนาจจีน

ฟูมิโอ คิชิดะ
Xinhua/Zhang Xiaoyu/Pool via REUTERS/File Photo

รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอตัวเตรียมจัดประชุมระหว่างเจ้าหนี้ศรีลังกาเพื่อหาทางออกวิกฤตหนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของวิกฤตเศรษฐกิจ

วันที่ 26 สิงหาคม 2565 รอยเตอร์ส เปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเสนอตัวเข้าเป็นคนกลางจัดงานประชุมเจ้าหนี้ศรีลังกา ด้วยหวังจะช่วยหาทางเเก้ไขวิกฤตเงินกู้ หากแต่ความไม่แน่นอนยังคงปกคลุมการเจรจาต่าง ๆ

ส่วนรายละเอียดระบุว่า ทางการญี่ปุ่นกำลังเสนอรับเป็นเจ้าภาพการเจรจาให้บรรดาประเทศผู้ให้กู้ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลศรีลังกาให้พ้นจากวิกฤตหนี้ในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ศรีลังกาได้รับเอกราช หากแต่แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวกับรอยเตอร์สว่า ยังไม่ชัดเจนว่าประเทศจีน เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของศรีลังกาจะเข้าร่วมหรือไม่ รวมถึงยังมีความไม่แน่นอนอยู่ในวิกฤตการเงินของศรีลังกาด้วย

อย่างไรก็ตาม หากญี่ปุ่นยินดีจะเป็นประธานการประชุมร่วมกับจีน การกระทำดังกล่าวจะช่วยเร่งกระบวนการการจัดหาหนี้ของศรีลังกาให้เร็วขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2563 ศรีลังกาเป็นหนี้อยู่บนพื้นฐานทวิภาคีทั้งหมดมูลค่าประมาณ 6.2 พันล้านดอลลาร์ (2.2 แสนล้านบาท)

รานิล วิกรมสิงเห
รานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีศรีลังกา (REUTERS/ Dinuka Liyanawatte/File Photo

นายรานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีศรีลังกา กล่าวกับรอยเตอร์สเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ศรีลังกากำลังจะขอให้ญี่ปุ่นเชิญประเทศเจ้าหนี้ต่าง ๆ มาพูดคุยเจรจาเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ทวิภาคี โดยจะหารือเรื่องนี้กับนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในกรุงโตเกียวในเดือนหน้า ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่เขาจะเข้าร่วมพิธีศพของนายชินโซ อาเบะ อดีตรัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้ถูกลอบสังหาร

ขณะที่ในเดือนนี้ S&P Global บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลของศรีลังกาไปที่การผิดนัดชำระหนี้ (Default) หลังจากที่รัฐบาลศรีลังกาได้ผิดนัดชำระหนี้ดอกเบี้ยและเงินต้น

ทั้งนี้ ศรีลังกา มีประชากรราว 22 ล้านคน และตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของอินเดีย กำลังตกอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายทั้งทางสังคมเเละทางการเงินจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 เป็นผลพวงจากการบริหารนโยบายการเงินและเศรษฐกิจที่ผิดพลาดยาวนานต่อเนื่องหลายปี โดยมีหนี้อยู่ราว 114% เมื่อเทียบกับผลผลิตทางเศรษฐกิจ

ญี่ปุ่นมีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะตัวกลางการประชุม

ขณะที่ญี่ปุ่นนั้นถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียในการเข้าช่วยเหลือศรีลังกาในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อชดใช้เงินกู้ 3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1 แสนล้านบาท) แต่ยังเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการทูตผ่านการทดสอบสถานะของจีนที่กำลังเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้

ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เข้าพบนายวิกรมสิงเห เมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือ ซึ่งรวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้มูลค่ากว่า 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 1 ล้านล้านบาท

ขณะที่ทางการศรีลังกากำลังมองหาโครงการเงินช่วยเหลือมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ (1 แสนล้านบาท) ของไอเอ็มเอฟ

ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน ประธานาธิบดีศรีลังกายังได้เข้าพบกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น โดยแหล่งข่าวระบุว่า ทางการญี่ปุ่นเชื่อว่าจำเป็นต้องมีการสร้าง “เวที” แห่งใหม่ เพื่อดึงให้เจ้าหนี้ทั้งหลายมารวมตัวกัน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตเงินกู้ศรีลังกานั้น ยังรวมถึงการแข่งขันและความตึงเครียดระหว่างประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ทั้งสอง นั่นคือจีนและอินเดีย ขณะที่ศรีลังกาจะต้องให้คำมั่นสัญญาที่จะปฏิรูปการเงินในประเทศและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหนี้เพิ่มเติม

“ศรีลังกาแทบจะไม่เหลือเวลาแล้วนับตั้งแต่ที่ได้ผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้นสิ่งสำคัญอันดับแรกคือประเทศเจ้าหนี้ทั้งหลายจำเป็นต้องบรรลุข้อตกลงที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน” แเหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าว

“รัฐบาลญี่ปุ่นนั้นกระตือรือร้นที่จะผลักดันเรื่องนี้ไปข้างหน้า เพียงแต่มันไม่ใช่สิ่งที่ญี่ปุ่นเพียงคนเดียวจะยกมือและผลักดันมันให้ผ่านได้”

ดังนั้น ความร่วมมือของประเทศอื่น ๆ เป็นสิ่งสำคัญ โดยขณะนี้ทั้งกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นและโฆษกของไอเอ็มเอฟได้ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น ขณะที่ธนาคารกลางเเละกระทรวงการคลังของศรีลังกาไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นในทันที

จำเป็นจะต้องมีกรอบความร่วมมือใหม่

เดือนที่แล้ว เพียงไม่นานหลังจากที่นายวิกรมสิงเหเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และอดีตผู้นำคนก่อนได้หลบหนีไปยังต่างประเทศ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เขียนจดหมายส่งให้กับนายวิกรมสิงเหว่า เขา “พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือให้แก่ประธานาธิบดีวิกรมสิงเห และชาวศรีลังกาอย่างเต็มที่ที่สุด เท่าที่จีนจะสามารถทำได้”

ขณะที่แหล่งข่าวกล่าวว่า การได้รับความร่วมมือจากทางการจีนในการปรับโครงสร้างหนี้นั้นยังมีความซับซ้อนจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ผู้ให้กู้ที่มีจำนวนมาก และการที่จีนยังคงลังเลที่จะ “ปรับแต่ง” เงินกู้และลดภาระหนี้ของทางการศรีลังกา

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ทางการจีน “เต็มใจที่จะร่วมมือกับประเทศที่เกี่ยวข้องและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และจะยังคงสร้างบทบาทเชิงบวกต่อไปในการช่วยให้ศรีลังกาตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แบ่งเบาภาระหนี้ และสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน”

สีจิ้นผิง
REUTERS/Florence Lo

ขณะที่ญี่ปุ่นหวังว่าจะได้เห็นกรอบการปรับโครงสร้างหนี้รูปแบบใหม่ ที่คล้ายคลึงกับกรอบที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 แห่ง (G20) ซึ่งกำหนดเป้าหมายไปยังกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ หากแต่ศรีลังกาไม่ได้ถูกจัดอยู่ภายใต้ “กรอบการทำงานร่วมกัน” นี้ เนื่องจากศรีลังกาถูกจัดเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลาง

“มันต้องเป็นเวทีที่ประเทศเจ้าหนี้ทั้งหมดมีส่วนร่วม เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาทั้งหมดแบกรับส่วนแบ่งที่ยุติธรรมในการยกเว้นหนี้ จนกว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขเหล่านี้ คงเป็นเรื่องยากที่การเจรจาใด ๆ จะสำเร็จ” แหล่งข่าวกล่าวกับรอยเตอร์ส

โดยกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวระบุว่า การประชุมของประเทศเจ้าหนี้ทั้งหมดอาจมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้


ขณะที่แหล่งข่าวอื่นกล่าวว่าน่าจะใช้เวลาอีกพอสมควร โดยการเจรจาถึงการปรับโครงสร้างหนี้จะมีขึ้นก็ต่อเมื่อไอเอ็มเอฟยอมรับพิจารณาเรื่องหนี้ของศรีลังกาแล้วเท่านั้น