ประวัติ รานิล วิกรมสิงเห นายกฯ 6 สมัย สู่ประธานาธิบดีศรีลังกา

รานิล วิกรมสิงเห
(FILES) In this file photo taken on May 12, 2022, (Photo by Ishara S. KODIKARA / AFP)

เส้นทางสู่การเป็นประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา “รานิล วิกรมสิงเห” ผู้นำศรีลังกาฝ่าวิกฤต

วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 นายรานิล วิกรมสิงเห (วิกรามาสิงหะ) วัย 73 ปี เข้าพิธีสาบานตนเป็น ประธานาธิบดีศรีลังกาคนใหม่แล้ว ท่ามกลางกลุ่มผู้ประท้วงที่ตะโกน “รานิล กลับบ้านไป” ประชาชาติธุรกิจพาไปทำความรู้จัก ประธานาธิบดีศรีลังกาคนใหม่ ที่จะต้องฝ่าวิกฤตประเทศในครั้งนี้

ประวัติ

รานิล วิกรมสิงเห เกิดวันที่ 24 มีนาคม 2492 ณ เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ขณะนี้อายุ 73 ปี พ่อของเขาเป็นทนายความที่รับช่วงต่อหนังสือพิมพ์ เลก เฮ้าส์ กรุ๊ป (Lake House Group) 

การศึกษา

รานิล วิกรมสิงเห ได้รับการศึกษาที่ โรงเรียนรอยัล เพร็บเพรทอรี่ (Royal Preparatory School) และ วิทยาลัยรอยัล โคลัมโบ (Royal College, Colombo) เป็นเพื่อนร่วมชั้นกับ อนุรา บันดารานัยเก (Anura Bandaranaike) ลูกชายของนายกรัฐมนตรีโซโลโมน บันดารานัยเก (Solomon Bandaranaike) และ ดีเนศ กุณวรรธน (Dinesh Gunawardena) บุตรชายของผู้นำสังคมนิยม ฟิลลิป กุณวรรธน (Philip Gunawardena Wickremasinghe)

เข้าสู่คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยซีลอน (Ceylon) ที่วิทยาเขตโคลัมโบ ซึ่งปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยโคลัมโบ หลังสำเร็จการศึกษาจึงสอบกฎหมายที่ วิทยาลัยกฎหมาย ซีลอน (Ceylon Law College) และเข้ารับตำแหน่งทนายความในปี 2515

หลังจากฝึกงานภายใต้ เอช ดับเบิ้ลยู เจย์วาร์ดีน ควิเบก (H.W. Jayewardene, QC ) รานิล วิกรมสิงเห ได้เป็นทนายความด้านกฎหมายหลังจากการเปลี่ยนแปลงวิชาชีพทางกฎหมายในปี 2516 

รานิล วิกรมสิงเห ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยดีกิ้นในออสเตรเลียเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.. 2560 เนื่องจากมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจ การศึกษา และสิทธิมนุษยชน

รานิล วิกรมสิงเห
Sri Lanka’s newly elected president Ranil Wickremesinghe addresses the media representatives during his visit at the Gangaramaya Buddhist (Photo by Arun SANKAR / AFP)

เส้นทางการเมือง

รานิล วิกรมสิงเห มีประสบการณ์ทางการเมืองยาวนานกว่า 4 ทศวรรษ และตั้งตนเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และความสามารถที่จะนำทางศรีลังกาผ่านวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในประวัติาสตร์ โดยเฉพาะในกรณีที่เขาช่วยให้ประเทศเจรจาขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

อย่างไรก็ตาม ความชอบธรรมของเขาในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เสียไปจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างเขากับตระกูลราชปักษา และผู้ประท้วงให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าประท้วงต่อไปจนกว่าเขาจะลงจากตำแหน่ง

ในการลงคะแนนลับที่เกิดขึ้นเมื่อวันวานนี้ (20 กรกฎาคม) มีการประท้วงเงียบ ๆ เกิดขึ้นที่สำนักเลขาธิการประธานาธิบดีในกรุงโคลัมโบ เรียกร้องให้รานิลลาออก

รานิล วิกรมสิงเห จะดำรงตำแหน่งประธานาธิดีจนครบเทอมของโกตาบายาในเดือนพฤศจิกายน 2567

นายกรัฐมนตรี 6 สมัย

รานิล วิกรมสิงเห เป็นสมาชิกสภามายาวนาน 45 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีมา 6 สมัย มีประสบการณ์ทางการทูตและการต่างประเทศ รวมถึงเป็นบุคคลที่เริ่มเปิดเจรจากับไอเอ็มเอฟเพื่อขอรับเงินทุนช่วยเหลือในการบริหารการเงินของประเทศช่วงเวลายากลำบากนี้