รานิล วิกรมสิงเห สาบานตนเป็น ประธานาธิบดีศรีลังกา สัญญาณถ่ายทอดสะดุด

ประธานาธิบดีศรีลังกา
Sri Lanka's six-time prime minister Ranil Wickremesinghe sworn in as president on July 21 /AFP PHOTO/Sri Lanka's Parliament

พิธีสาบานตนของ ประธานาธิบดีศรีลังกา คนใหม่ในยุคบ้านเมืองล้มละลาย ผ่านพ้นแล้ว รานิล วิกรมสิงเห เปิดใจทำไมอยากเป็นผู้นำในช่วงเวลานี้

วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 สำนักข่าว เอพี รายงานว่า นายรานิล วิกรมสิงเห (วิกรามาสิงหะ) วัย 73 ปี เข้าพิธีสาบานตนเป็น ประธานาธิบดีศรีลังกา คนใหม่แล้ว เพื่อเดินหน้าสู่ขั้นตอนการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ รับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศ

ภาพที่ทางการศรีลังกาเผยแพร่ นายวิกรมสิงเหอ่านข้อความสาบานตนต่อหัวหน้าผู้พิพากษา ชยันธา ชยาสุริยา โดยมีผู้นำกองทัพและผู้บัญชาการตำรวจร่วมเป็นสักขียาน

นายรานิล วิกรมสิงเห ลงนามในเอกสารสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของศรีลังกา เมื่อ 21 ก.ค. 2022. (Photo by Ishara Kodikara / Sri Lanka’s parliament / AFP)

นายวิกรมสิงเหเป็นสมาชิกสภามายาวนาน 45 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีมา 6 สมัย มีประสบการณ์ทางการทูตและการต่างประเทศ รวมถึงเป็นบุคคลที่เริ่มเปิดเจรจากับไอเอ็มเอฟเพื่อขอรับเงินทุนช่วยเหลือในการบริหารการเงินของประเทศช่วงเวลายากลำบากนี้

ภาพสัญญาณถ่ายทอดสดที่เผยแพร่พิธีสาบานตน มีเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังรอบรัฐสภาอย่างเข้มงวด จังหวะที่นายวิกรมสิงเหและนางเมธรี ภรรยาเดินตรวจแถวทหารเสร็จแล้วกำลังจะเข้าอาคารรัฐสภา ภาพถูกตัดหายไป ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมระดับสูงเผยว่า เปิดการสอบสวนสาเหตุแล้ว

Ranil Wickremesinghe swearing-in as Sri Lanka’s President at the parliament in Colombo on July 21. (Photo by Sri Lanka’s parliament / AFP)

ก่อนหน้านี้ ซีเอ็นเอ็น รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายวิกรมสิงเห เผยสาเหตุที่ต้องการเข้ามาเป็นผู้นำประเทศในยามนี้ ทั้งที่มีประชาชนจำนวนมากต่อต้านว่า ไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ในประเทศ ไม่อยากให้ใครต้องทุกข์ร้อนและไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครก็ตาม

“ผมอยากบอกประชาชนว่า ผมรู้ว่าชาวศรีลังกาทนทุกข์ทรมานแค่ไหน เมื่อเราถอยหลังไป เราต้องค่อยขยับกลับมา ไม่ต้องใช้เวลาถึง 5 ปีหรือ 10 ปี แต่ปลายปีหน้าเราจะเริ่มมีเสถียรภาพ และมั่นใจว่าภายในปี 2024 เศรษฐกิจจะเริ่มเติบโต” ประธานาธิบดีคนใหม่ศรีลังกากล่าว

ประธานาธิบดีศรีลังกา
FILE – Ranil Wickremesinghe (AP Photo/Eranga Jayawardena, File)

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือน มี.ค. ศรีลังกาซึ่งมีประชากร 22 ล้านคน ประสบวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี ประชาชนขาดแคลนสิ่งของจำเป็น รวมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง อาหารและยารักษาโรค

ผู้ประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีนานหลายเดือนและเพิ่งไล่สำเร็จ ทำให้ราชปักษาต้องหนีออกนอกประเทศ หลังจากผู้ประท้วงหลายพันคนบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดี รวมถึงจุดไฟเผาบ้านพักส่วนตัวของนายวิกรมสิงเห ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่นายวิกรมสิงเหเพิ่งประกาศลาออกเพื่อเปิดทางให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

ประธานาธิบดีศรีลังกา
มวลชนมาประท้วงนายรานิล วิกรมสิงเห วันที่ 20 ก.ค. 2565 (AP Photo/Eranga Jayawardena)

แม้บ้านพักถูกเผาเหลือแต่ซากและเอกสารก็ถูกเผาทำลายไปด้วยอย่างที่กู้คืนไม่ได้ รวมทั้งหนังสือกว่า 4,000 เล่ม บางเล่มมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี เปียโนอายุ 125 ปีที่เสียหาย แต่นายวิกรมสิงเหยังมาลงชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดี ด้วยเหตุผลว่า เพื่อจะไม่บริหารประเทศแบบเดิม และต้องการมากอบกู้เศรษฐกิจ

บ้านนายรานิล วิกรมสิงเห ถูกเผาไหม้เกรียม. (Photo by AFP)

ขณะนี้ชาวศรีลังกายังลืมตาอ้าปากไม่ขึ้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศเป็นอัมพาต ประชาชนต้องต่อแถวนานหลายชั่วโมงที่ปั๊มน้ำมันเพื่อหวังว่าจะได้เติมน้ำมัน ธุรกิจการค้าหลายรายต้องปิดทำการ ชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ตว่างเปล่า

นายวิกรมสิงเหกล่าวว่า รัฐบาลชุดก่อนของนายโกตาบายา ราชปักษา ไม่ยอมพูดความจริงกับประชาชน ว่าศรีลังกา “ล้มละลาย” และจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ดังนั้นรัฐบาลชุดที่ตนเป็นผู้นำต้องไม่ทำผิดพลาดเหมือนเดิมอีก

ผู้สนับสนุนนายรานิล วิกรมสิงเห จุดประทัดฉลองที่นายรานิลได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี (AP Photo/Eranga Jayawardena)

“ผมไม่จำเป็นต้องบอกคุณว่า สถานะของประเทศเราเป็นอย่างไร ประชาชนไม่ต้องการการเมืองแบบเก่าจากพวกเราอีกแล้ว พวกเขาคาดหวังให้เราทำงานร่วมกัน ตอนนี้การเลือกตั้งมันผ่านไปแล้ว เราต้องยุติความแตกแยกกัน” นายวิกรมสิงเหกล่าวกับเพื่อนสมาชิกสภา หลังได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี

นายวิกรมสิงเหได้รับมติเสียงส่วนใหญ่จากสมาชิกในสภาให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่จะอยู่ไปจนครบวาระเดิมของนายราชปักษา ปี 2024 (พ.ศ. 2567) ทำให้เกิดปฏิกิริยาไม่พอใจจากประชาชนที่มองว่า นายวิกรมสิงเหเป็นส่วนหนึ่งของระบอบราชปักษา

หลายคนเดินทางไปประท้วงหน้าสำนักงานเลขาธิการประธานาธิบดี และตะโกนว่า “รานิลกลับบ้านไป”

เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนคุ้มกันรัฐสภา ระหว่างการเลือกประธานาธิบดี REUTERS/Adnan Abidi

วิกรมสิงเหกล่าวด้วยว่า เข้าใจดีว่าประชาชนยังโกรธแค้น เพราะเผชิญช่วงเวลาเลวร้าย 3 สัปดาห์ที่ไม่มีแก๊ส หรือน้ำมัน แต่ขอให้ประท้วงโดยสันติ อย่าบุกรุกรัฐสภาและขัดขวางการทำงานของรัฐสภา จึงประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 ก.ค. ช่วงที่ยังรักษาการประธานาธิบดี เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม เพราะถึงอย่างไรประเทศต้องมีกฎระเบียบ มีขื่อมีแป

ขณะเดียวกัน นายวิกรมสิงเหเผยว่าพยายามไม่ให้ทหารตำรวจใช้อาวุธ แม้บางครั้งเป็นฝ่ายถูกโจมตี แต่ขอให้อดทนอดกลั้น

….