จีนกำลังเจอ “วิกฤตหนี้” ในชาติกำลังพัฒนา

จีน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

สถานการณ์โลกทั้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ในเวลานี้เต็มไปด้วยปัจจัยลบ เศรษฐกิจของทั้งโลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงสู่ “ภาวะถดถอย” อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยต้องปรับสูงขึ้นตามไปด้วย

สภาพการณ์เช่นนี้ส่งผลอย่างยิ่งต่อประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เงินเฟ้อทำให้ข้าวของแพง ค่าครองชีพในประเทศพุ่งสูง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของชาติพัฒนาแล้วส่งผลให้เงินทุนไหลออก ค่าเงินร่วงลงอย่างต่อเนื่อง หนี้สินคงค้างปรับสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ในขณะที่กำลังความสามารถในการชำระหนี้ลดลงอย่างฮวบฮาบ

สถานการณ์ในปัจจุบันเสี่ยงอย่างยิ่งสำหรับชาติกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศที่มีหนี้สินต่างประเทศสูงมาก เพราะในที่สุดก็จะบรรลุถึงจุดที่ความสามารถในการชำระหนี้หมดไปโดยสิ้นเชิง การผิดนัดชำระหนี้จะเกิดขึ้นตามมา

เหตุการณ์ดังกล่าวหากเกิดขึ้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประเทศลูกหนี้เท่านั้น แต่ยังสะเทือนไปถึงชาติ “เจ้าหนี้” ไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์จับตามองกันมากในเวลานี้ก็คือ ประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาอย่าง “จีน” จะจัดการกับวิกฤตที่กำลังก่อตัวนี้อย่างไร

จีนปล่อยกู้ให้กับประเทศต่าง ๆ สูงมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตามโครงการ “ความคิดริเริ่มว่าด้วยแถบและเส้นทาง” (บีอาร์ไอ) ที่ถือเป็นการ “เดิมพัน” ด้านนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่ที่สุดของจีนในรอบกว่า 100 ปี

โครงการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานระหว่างประเทศที่ริเริ่มด้วยประเทศหนึ่ง ๆ ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยพบเห็นกันนี้ ประสบปัญหาไม่น้อย เพราะโครงการจำนวนมากไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทนเชิงพาณิชย์อย่างที่คาดหวัง ในขณะที่เงินกู้ขนาดใหญ่ที่แต่ละประเทศกู้ยืมจากจีนสร้างแรงกดดันทางการเงินอย่างหนักให้กับรัฐบาลของชาติดังกล่าวจนเริ่มเปราะบาง เสี่ยงต่อการพังทลายมากขึ้นทุกที

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจนคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “ศรีลังกา” ที่จำเป็นต้องผิดนัดชำระหนี้ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลายเป็นชาติในเอเชีย-แปซิฟิกชาติแรกในรอบกว่า 20 ปีที่ต้องทำเช่นนั้น

ข้อมูลของอเมริกัน เอ็นเตอร์ไพรส์ อินสติติวต์ ตรวจสอบสถานะเงินกู้ตามโครงการบีอาร์ไอ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2013 พบว่า เมื่อถึงสิ้นปี 2021 เงินกู้ที่จีนให้ประเทศกำลังพัฒนาหลายสิบประเทศกู้ยืมผ่านโครงการนี้ รวมแล้วสูงถึง 838,000 ล้านดอลลาร์

ที่เป็นปัญหาอย่างยิ่งก็คือ เงินกู้ก้อนดังกล่าวจำนวนมหาศาลมากในตอนนี้กลายเป็น “หนี้เสีย” ไปแล้ว ข้อมูลที่รวบรวมโดย โรเดียม กรุ๊ป สถาบันวิจัยในนครนิวยอร์ก ระบุว่า ในช่วงระหว่างปี 2020 และ 2021 จีนจำเป็นต้องเปิดการเจรจาเพื่อประนีประนอมหรือเพื่อต่อรอง
เงื่อนไขในการชำระหนี้กับลูกหนี้ชาติต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่ารวมสูงถึง 52,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งอยู่ที่ 16,000 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าในช่วง 2 ปีก่อนหน้าถึงกว่า 3 เท่าตัว

รวมมูลหนี้ที่ต้องเจรจาต่อรองกันใหม่แล้วสูงถึง 118,000 ล้านดอลลาร์ คิดสัดส่วนเป็น 16% ของปริมาณหนี้ที่ปล่อยกู้ไปทั้งหมดของจีน

แมทธิว มินเกย์ นักวิจัยอาวุโสของ โรเดียม ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ทุกอย่างย่ำแย่ลงมากขึ้น สร้างแรงกดดันมหาศาลต่อจีน เพราะการเจรจาเงื่อนไขหนี้ใหม่มีตั้งแต่การขอให้ยกภาระหนี้, การปรับหรือยืดระยะเวลาการชำระหนี้ เรื่อยไปจนถึงการขอลดอัตราดอกเบี้ย

จีนพยายามป้องกันด้วยวิธีการปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินให้กับรัฐบาลนั้น ๆ เพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามกลายเป็นวิกฤตดุลชำระเงิน แต่กรณีของศรีลังกาสะท้อนให้เห็นชัดว่า การให้เงินกู้ฉุกเฉิน เหมือนต่อท่อน้ำเกลือเพื่อเลี่ยงสถานการณ์ผิดนัดชำระหนี้ ไม่ใช่หนทางที่ดีและไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานที่แท้จริงของประเทศบางประเทศได้

จีนพยายามพยุงสถานะทางการเงินของศรีลังกามานาน 5 ปี แต่ในที่สุดก็ต้องล้มละลายลงจนได้

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “โอลาฟ โชลทซ์” นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ออกปากเตือนไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า กำลังเกิดความเสี่ยงรุนแรงที่จะเกิดวิกฤตหนี้ครั้งใหญ่ขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในแอฟริกา จากปัญหาเงินกู้ที่จีนปล่อยออกไป

พอถึงเดือนมิถุนายน ธนาคารโลกก็ออกมาเตือนอีกครั้งว่า ชาติกำลังพัฒนาทั้งหลายอาจมุ่งหน้าไปสู่ “ภาวะวิกฤตหนี้ขนานใหญ่เหมือนอย่างที่เคยเห็นกันครั้งล่าสุดในทศวรรษ 1980” เพราะสถานการณ์ถูกผลักดันให้หนักหน่วงมากยิ่งขึ้นจากสงครามในยูเครน, ภาวะตึงตัว
ทางการเงินของโลก และความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

นั่นหมายถึงว่าจะมีอีกหลายประเทศมากที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ในระยะเวลาอันสั้น

อัยฮาน โคเซ หัวหน้าทีมวิจัยของธนาคารโลก ย้ำว่า หากวิกฤตหนี้หนนี้เป็นจริงขึ้นมา ก็จะเป็นเสมือนพายุกระหน่ำเข้าใส่ภาวะเศรษฐกิจของทั้งโลกทันที

คำถามก็คือ จีนจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างเช่นในเวลานี้