วิกฤตจีน-สหรัฐรอบใหม่ เศรษฐกิจไทย “กระทะร้อน”

วิกฤตจีน-สหรัฐรอบใหม่
คอลัมน์​: ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ

ข่าวการเยือนไต้หวันของนางแนนซี่ เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ เมื่อค่ำคืนวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ถือเป็นการเยือนไต้หวันโดยผู้นำระดับสูงของสหรัฐครั้งแรกในรอบ 25 ปี สร้างความไม่พอใจให้กับจีน จนต้องตอบโต้ด้วยการซ้อมรบในทันที

ประเด็นนี้กำลังสร้างความสั่นสะเทือนไปสู่ประเทศเล็ก ๆ น้อย ๆ ในกลุ่มอาเซียน รวมถึง “ไทย” ซึ่งเป็นคู่ค้าทั้งกับจีน และสหรัฐ

ตามภาษิตว่า “ช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกลาญ”

ย้อนไปตั้งแต่การประกาศเปิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนในสมัยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2018 ที่ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 1,102 รายการ ในระดับ 25% โดยอ้างอิงถึงการใช้กฎหมายการค้าปี 1947 ตามมาตรา 301 ดำเนินการประเทศคู่ค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สร้างความชอบธรรมในการจัดการจีน นัยหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาความเสียเปรียบทางการค้า จากที่สหรัฐขาดดุลการค้าให้กับจีนเป็นเวลานาน

ทางการจีนก็ออกมาตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ 959 รายการเช่นกัน

ผลจากมาตรการครั้งนั้นหญ้าแพรกชุ่มชื้นขึ้นเพราะทั้งสองประเทศต่างหันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น

แต่ในรอบนี้หลายฝ่ายจับตาความรุนแรง ของ “สงครามการค้า” รอบใหม่ ที่เกิดจากอุดมการณ์การเมืองที่แตกต่าง นำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ค่ายประชาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ ซึ่งเริ่มจะร้อนระอุมากขึ้น

จนกดดันเศรษฐกิจไทยให้เข้าสู่ภาวะกระทะร้อน เพราะถึงไม่โดนไฟจากเตาโดยตรง แต่อาหารในกระทะก็แทบจะสุก

ในมิติการค้าช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2565 “จีน” เป็นคู่ค้าและตลาดส่งออกอันดับ 1 ที่ไทยส่งออกไปถึง 1.82 ล้านล้านบาท เทียบกับสหรัฐ เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ที่ไทยส่งออกไป 1.092 ล้านล้านบาท เทียบกับมูลค่าการส่งออกที่ไทยส่งออกไปทั่วโลก 10.1 ล้านล้านบาท แต่ไทยขาดดุลการค้าให้กับจีนและได้ดุลการค้าจากสหรัฐ

อีกมิติหนึ่ง ไทยยังได้มีความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างอาเซียน-จีน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ร่วมกับจีนและอีก 14 ประเทศ ขณะที่ฝั่งสหรัฐที่เคยมีการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ก็หยุดชะงักไปกลางคัน ส่วนการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP 11 ประเทศร่วมกับสหรัฐ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถอนตัวออกกลางทาง จนทำให้ความตกลงดังกล่าวกลายร่างมาเป็นความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก หรือ CPTPP ที่ปราศจากสหรัฐแทน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเพราะไทยยังไม่ได้สรุปว่าจะเข้าร่วมขบวนหรือไม่

โชคร้ายที่วิกฤตเทรดวอร์รอบใหม่มาอยู่จังหวะที่ “ความวัวยังไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก” จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ไม่มีทีท่าว่าจะจบ วิกฤตราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง หลาย ๆ สินค้าเริ่มขาดแคลนวัตถุดิบ ก็ต้องมาเจอวิกฤตซ้อนวิกฤตเข้าไปอีก


อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์จีโอโพลิติกที่อ่อนไหวและเปราะบางเช่นนี้ ไทยต้องให้ความสำคัญการวางตัวและการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ถือเป็นการวัดฝีมือด้านเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์