ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว ขณะที่ตลาดจับตาการประชุมเฟด

ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว ขณะที่ตลาดจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ในวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.นี้ รวมถึงการแถลงข่าวของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ของสหรัฐ

วันที่ 30 เมษายน 2567ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 30 เมษายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/4) ที่ระดับ 37.06/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (29/4) ที่ระดับ 37.03/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบแคบ ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.นี้ รวมถึงการแถลงข่าวของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ของสหรัฐ

ขณะที่ข้อมูลจาก FedWatch Tool โดย CME Group ระบุว่า นักลงทุนในตลาดให้น้ำหนักเกือบ 100% ที่ธนาคารกลางสหรัฐจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมครั้งนี้ และคาดการณ์ว่าในปีนี้เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 1-2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนที่แล้วว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยกว่า 1.50% ในปีนี้

สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยรายงานเศรษฐกิจและการเงินประจำเดือนมีนาคม 2567 ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอลงจากอุปสงค์ในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงหลังจากที่เร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะจากมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-receipt ที่หมดไป รวมถึงยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการค้าโลกที่้ฟื้นตัวช้า

Advertisment

เป็นเหตุให้มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบรายปี สวนทางกับมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.2 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 2 พันล้านดอลลาร์ สำหรับดุลการชำระเงินขาดดุลเล็กน้อยที่ 0.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามเงินโอนเกินดุลที่ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนและรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ลดลง

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.47 เมื่อเทียบรายปี ติดลบน้อยลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.77 จากราคาผักและผลไม้ที่เพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.37 ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 0.43

นอกจากนี้ สายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ได้มีการแถลงเพิ่มเติมในเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนค่าว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่าง ๆ ราว 4.4% ในขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าไป 7.8% เมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค นับว่าเป็นรองก็เพียงเงินเยนที่อ่อนค่าไปแล้วถึง 9.6%

อย่างไรก็ดี พบว่าในช่วงไตรมาสแรก เงินบาทอ่อนค่านำสกุลอื่น ซึ่งนอกจากจะได้รับผลจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ยังมีผลมาจากปัจจัยในประเทศเอง ที่ตัวเลขเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดไว้ จึงเป็นผลให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ซึ่งแม้ในไตรมาส 2 เงินบาทอาจมีแนวโน้มอ่อนค่าจากการจ่ายเงินปันผล แต่มองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น และปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าจะค่อย ๆ ลดลงไปในช่วงครึ่งปีหลัง

Advertisment

ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 37.02-37.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.06/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/4) ที่ระดับ 1.0713/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (29/4) ที่ระดับ 1.0714/17 โดบระหว่างวันค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังสำนักงานสถิติแห่งชาติยุโรปเปิดเผยรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานประจำเดือน เม.ย. อยู่ที่ระดับ 2.7% เมื่อเทียบรายปี มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.6% และถือเป็นการเร่งตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 2.9% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปทรงตัวที่ระดับ 2.4% เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0688-1.0726 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0722/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/4) ที่ระดับ 156.81/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (29/4) ที่ระดับ 155.72/75 โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่นเผยว่ายอดค้าปลีกปรับตัวขึ้น 1.2% ในเดือน มี.ค.เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ที่ 2.5% และชะลอตัวลงอย่างมากหลังจากเพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือน ก.พ. ขณะเดียวกันอัตราว่างงานของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 2.6% ในเดือน มี.ค. 2567 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ระดับ 2.5%

นอกจากนี้ นายมาซาโตะ คันดะ รมช.คลังญี่ปุ่นฝ่ายกิจการระหว่างประเทศกล่าวในวันนี้ว่า ทางการญี่ปุ่นพร้อมที่จะจัดการกับปัญหาในตลาดปริวรรตเงินตรา ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง ด้วยมาตรการที่เหมาะสมตามความจำเป็นในแบบที่สอดคล้องกับกฎระเบียบที่กำหนดไว้ภายใต้กรอบสากล แต่เขาปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อประเด็นที่ว่ากระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้เข้ามาแทรกแซงตลาดเพื่อช่วยหนุนค่าเงินเยนในวันจันทร์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 156.16-155.99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 156.92895 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. ของสหรัฐ (30/4), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน เม.ย.จาก ADP (1/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้าย (1/5), ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือน มี.ค. (1/5), การประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (30/4-1/5),

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (2/5), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (2/5), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน เม.ย.ของสหรัฐ (3/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน เม.ย. (1/5) และดัชนีภาคบริการเดือน เม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (3/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.30/9.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.00/-4.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ