“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจ 10 เรื่องน่ารู้ของ “สัตยา นาเดลลา” ซีอีโอลูกหม้อบิ๊กเทคระดับโลก “Microsoft” ที่กำลังจะมาเยือนไทย
ในวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา “สัตยา นาเดลลา” (Satya Nadella) ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอของไมโครซอฟท์ (Microsoft) บิ๊กเทคระดับโลกที่ปัจจุบันขึ้นแท่นบริษัทที่มีมูลค่าตามตลาดหลักทรัพย์ (Market Cap) สูงที่สุดในโลก ซึ่งมีมูลค่าราว 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมงาน Microsoft Build : AI Day ที่ช่วยให้นักพัฒนาค้นพบโอกาสใหม่ ๆ จาก AI
พร้อมทั้งพัฒนาความรู้และทักษะเกี่ยวกับ AI และ Microsoft Azure โดยผู้เข้าร่วมงานจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมล่าสุด และมีโอกาสพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญจาก Microsoft อย่างใกล้ชิด
และในวันเดียวกัน “สัตยา” ยังเข้าพบ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และทีมรัฐบาลไทย เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานด้านคลาวด์และ AI ในประเทศไทย หลังจาก Microsoft ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลไทย เพื่อนำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI มาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ครั้งที่นายกฯ เศรษฐา เข้าร่วมการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางเดือน พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การมาเยือนไทยของ “สัตยา” ในปีนี้ยังเป็นการเยือนต่างประเทศในวาระที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอของ Microsoft ครบ 10 ปี หลังจากรับตำแหน่งเป็นผู้กุมบังเหียนการบริหารงานมาตั้งแต่ปี 2557 อีกด้วย
“ประชาชาติธุรกิจ” จะพาทุกคนไปสำรวจ 10 เรื่องน่ารู้ของชายที่ชื่อว่า “สัตยา นาเดลลา” ก่อนที่เขาจะเดินทางมาไทยไปพร้อม ๆ กัน
1.สัตยา เกิดในปี 2510 ภูมิหลังเดิมมาจากเมืองไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย ปัจจุบันอาศัยอยู่กับครอบครัวที่เมืองเบลล์วิว รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โดยสมรสกับ “อนูปามา นาเดลลา“ ในปี 2535 และมีบุตรทั้งหมด 3 คน
2.สัตยา เติบโตมาจากครอบครัวที่พ่อเป็นข้าราชการ และแม่เป็นอาจารย์สอนภาษาสันสกฤตโบราณ โดยชีวิตในวัยเด็กเชี่ยวชาญด้านการเล่นคริกเก็ต
3.สัตยา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจาก Mangalore University ปริญญาโทสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก University of Wisconsin – Milwaukee และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจาก University of Chicago
4.สัตยา เคยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ Sun Microsystems บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ สารกึ่งตัวนำ และซอฟต์แวร์ ก่อนจะร่วมงานกับ Microsoft ในปี 2535
5.ในช่วงแรกของการทำงานกับ Microsoft สัตยามีส่วนในการพัฒนาโทรทัศน์แบบอินเตอร์แอกทีฟ และระบบปฏิบัติการ Windows NT
6.ในปี 2542 สัตยาก้าวสู่การเป็นผู้บริหารครั้งแรกในตำแหน่งรองประธานของ Microsoft bCentral โซลูชั่นสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ใช้เพื่อการโฮสต์เว็บไซต์และอีเมล จากนั้นในปี 2544 ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานฝ่าย Microsoft Business Solutions ที่ดูแลธุรกิจซอฟต์แวร์ด้านบัญชีและ CRM
จนกระทั่งปี 2550 สัตยาดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโสในกลุ่มธุรกิจ Microsoft Online Services ที่มีผลิตภัณฑ์สำคัญมากมาย เช่น Bing, Microsoft Office เวอร์ชั่นออนไลน์ และบริการเกม Xbox Live เป็นต้น
7.สัตยา มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้แพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ระบบคลาวด์ หรือ Microsoft Azure เติบโต โดยในปี 2554 เขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานฝ่าย Server and Tools และภายใต้การบริหารงานของเขา ทำให้ธุรกิจนี้สามารถสร้างรายได้ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2556
8.หลังจากสตีฟ บัลเมอร์ (Steve Ballmer) ซีอีโอคนก่อนหน้าลงจากตำแหน่งในปี 2556 สัตยาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นซีอีโอของ Microsoft ในเดือน ก.พ. 2557 ซึ่งขณะนั้น Microsoft มีมูลค่าบริษัทตามตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
9.สัตยา ถือเป็นซีอีโอที่ต่อยอด New S-Curve ให้ Microsoft อย่างต่อเนื่อง เพราะในยุคการบริหารงานของเขามีดีลทางธุรกิจเกิดขึ้นมากมาย เช่น การเข้าซื้อ LinkedIn มูลค่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2559 และผู้เผยแพร่วิดีโอเกม Activision Blizzard มูลค่า 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 เป็นต้น
10.สัตยา เคยเดินทางมาเยือนไทยแล้ว 1 ครั้ง ในงาน Thailand Developer Day เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2559 ซึ่งมีนักพัฒนาเข้าร่วมกว่า 1,000 คน และมีการถ่ายทอดสดไปยังผู้ชมที่ลงทะเบียนเข้าชมอีกหลายพันคน ซึ่งการมาเยือนไทยที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (1พ.ค.) ถือเป็นการกลับมาเยือนไทยอีกครั้งในรอบ 8 ปี