“จีน-สหรัฐ” เดือด เศรษฐกิจโลกอ่วมกว่ารัสเซีย-ยูเครน

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช
สัมภาษณ์พิเศษ

การเยือนไต้หวันโดยผู้นำระดับสูงของสหรัฐครั้งแรกในรอบ 25 ปีของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ เมื่อค่ำคืนวันที่ 2 สิงหาคม 2565 สร้างความไม่พอใจให้กับจีน จนต้องตอบโต้ด้วยการซ้อมรบด้วยอาวุธจริงในทันที กลายเป็นประเด็นที่มาทับซ้อนกับวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถึงแนวโน้มสถานการณ์และการเตรียมความพร้อมของไทยก่อนที่จะเริ่มการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคปลายปีนี้

ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น

เท่าที่ประเมินสถานการณ์เบื้องต้นมีโอกาสจะพัฒนาไปสู่ประเด็นความมั่นคงในภูมิภาค แต่ยังจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทันที โดยจะต้องรอดูการใช้มาตรการของทุกฝ่ายในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้

“หากความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐลุกลามบานปลายขึ้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะปัจจุบันไต้หวันเป็นศูนย์กลางในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีส่วนแบ่งตลาด 60% ของโลก โดยมีบริษัทขนาดใหญ่ เช่น AMD TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก”

สะเทือนอุตฯไฮเทคทั่วโลก

หากเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักซ์เตอร์​ก็จะขยายวงไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทคต่าง ๆ ทั้งหมด เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โรโบติก การบินซึ่งทั้งหมดมีมูลค่ามหาศาล มากกว่า 50% ของโลก นี่ยังไม่นับรวมเม็ดเงินด้านการลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ของไต้หวันที่ขยายไปในประเทศต่าง ๆ เช่น ฟูมิซ่าในเวียดนาม หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับอุตสาหกรรมไอโฟน เป็นต้น

“เอฟเฟ็กต์เรื่องความมั่นคงจะเห็นก่อน ส่วนด้านเศรษฐกิจยังไม่เห็นในทันที ขึ้นอยู่กับท่าทีของจีน จะตอบโต้อย่างไร ซึ่งขณะนี้เครื่องบินจีนได้เข้าไปบินวนเหนือเกาะไต้หวัน ขณะที่เรือรบของสหรัฐ 4 ลำ ก็ไปประจำการที่แถบชายฝั่งตะวันออกของไต้หวันเป็นที่เรียบร้อย และทราบจากรายงานข่าวว่า ทางการจีนเรียกทูตสหรัฐประจำประเทศจีนเข้าพบ ซึ่งยังไม่ทราบประเด็นการหารือว่าจะเป็นอย่างไร”

ตาราง ‘จีน-สหรัฐ’ เดือด

ทางการจีนเรียกทูตสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม จากที่ติดตามสถานการณ์ล่าสุดในส่วนของโฆษกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวว่า ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นและไม่ได้ต้องการผลักดันให้ไต้หวันเป็นอิสระ แต่ก็ยังไม่ได้มั่นใจว่าถ้อยคำจากการให้สัมภาษณ์นั้นจะทำให้อุณหภูมิความร้อนแรงของจีนลดลงได้มากน้อยเพียงใด

ขณะที่ตัวของนางแนนซี เพโลซีเองก็ได้ยืนยันว่าการเดินทางเยือนครั้งนี้ เป็นไปตามความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-ไต้หวันเมื่อครั้งเก่าก่อน แต่ปรากฏว่ามีถ้อยคำว่าตอนนี้ประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคามออกมาด้วย

ซึ่งประเด็นนี้สะท้อนไปถึงจีนเป็นอันดับที่ 1 และเป็นที่น่าสังเกตว่าครั้งนี้มีสิ่งที่แปลก ๆ คือ การเดินทางไปเยือนจังหวัดหนึ่งในไต้หวัน ที่เป็นจังหวัดที่จีนประกาศว่าเป็นของจีน โดยไม่ไปเยือนกรุงปักกิ่ง ก่อนที่เครื่องบินจะถึงสนามบินซงซาน นั่นจึงทำให้มีคำเตือนออกมาจากฝั่งจีนว่า “การกระทำครั้งนี้ สหรัฐกำลังเล่นอยู่กับไฟ เรื่องนี้จบไม่สวยแน่ และสหรัฐมีราคาที่ต้องจ่าย จากผลการกระทำนี้”

ในส่วนของประธานาธิบดีโจ ไบเดนเอง ได้ประกาศว่าการดำเนินการครั้งนี้เป็นการดำเนินการในส่วนของฝ่ายกฎหมาย ซึ่งเป็นคนละส่วนกับเขาซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การดำเนินการของ ส.ส.สหรัฐก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐ

ไทยวางตัวเป็น “กลาง”

ในส่วนของไทย ท่าทีมีความเป็นกลางเพราะเป็นคู่ค้าและมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองฝ่าย การแสดงความเห็นต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังรักษาระดับความเป็นกลาง ทั้งในระดับรัฐบาล-รัฐบาล และระดับ people-people จึงจะถือว่าเหมาะสมและดีที่สุด

เพราะที่ผ่านมาทั้งสองประเทศต่างให้ความสำคัญกับไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้งในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนโดยตรง (FDI) และจำนวนนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาในไทย และในอาเซียน

เทียบขนาดการค้า-การลงทุน

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบตัวเลขทางเศรษฐกิจจะเห็นว่า “จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ขณะที่สหรัฐเป็นอันดับ 2 ส่วนภาพการลงทุนโดยตรง (FDI) ทางจีนมาเป็นอันดับ 1”

อีกทั้งไทยและจีนมีความสัมพันธ์ด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยมีความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างอาเซียน-จีน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ร่วมกับจีนและอีก 14 ประเทศ ไม่เพียงเท่านั้นในด้านความสัมพันธ์ด้านโลจิสติกส์ระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ในส่วนของการสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงกรุงเทพฯ-หนองคาย ที่รัฐบาลจีนเข้ามาให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก

ขณะที่ฝั่งสหรัฐก็ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาประเทศสมาชิกในความตกลงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

การสานต่อ APEC ปลายปี

ในช่วงปลายนี้ในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับสุดยอดผู้นำเอเปค ซึ่งจะมีคีย์แมนสำคัญ ทั้งฝ่ายสหรัฐ-จีน-รัสเซียจะต้องเข้าร่วมด้วยนั้น จนถึงขณะนี้เรายังไม่ได้รับทราบความชัดเจนของการเดินทางเข้าร่วมของแต่ละประเทศ หรือแม้กระทั่งการประชุม G20 ที่ประเทศอินโดนีเซียปลายปีนี้ ที่ได้มีการเชิญประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ

แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มีความคาดหวังว่าการเข้าร่วมการประชุมจะช่วยในการคลี่คลายสถานการณ์ เพราะจะเห็นได้จากการประชุมระดับสหประชาชาติ (UN) หรือแม้แต่ G7 ที่ผ่านมา ก็ยังไม่ได้ลงลึกถึงมาตรการแต่อย่างใด หัวใจในการหารือในกรอบต่าง ๆ นั้นเป็นการมาพบปะและหารือในประเด็นที่ยังค่อนข้างกว้าง