“กัญชง” คืออะไร แตกต่างจาก “กัญชา” อย่างไร

หากถามว่า “กัญชง” คืออะไร เราคงตอบได้ว่าคล้ายๆ “กัญชา” แม้ชื่อและรูปลักษณ์จะคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ยังมีลักษณะกายภาพและคุณสมบัติที่แตกต่างกันให้สังเกตได้

กัญชง และ กัญชา เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากพืชชนิดเดียวกัน มีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่น ทางตอนใต้ของแคว้นไซบีเรีย , เปอร์เซีย, แคว้นแคชเมียร์ของอินเดีย และทางตอนเหนือของจีน

กัญชง

กัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp)  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Cannnabis sativa L. Subsp. Sativa ลำต้นสูงมากกว่า 2 เมตร ปล้องหรือข้อยาว แตกกิ่งก้านน้อยและแตกกิ่งไปในทางเดียวกัน เปลือกเหนียวลอกง่าย ให้เส้นใยยาวคุณภาพสูง แผ่นใบเป็นสีเขียวอมเหลือง ใบมีแฉกประมาณ 7-9 แฉก การเรียงตัวของใบค่อนข้างห่าง เมื่อออกดอกจะมียางที่ช่อดอกไม่มาก เมล็ดมีขนาดใหญ่และเป็นลายบ้าง ผิวเมล็ดหยาบด้าน ใบเมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นหอมน้อย ทำให้ผู้เสพปวดหัว มีสาร tetrahydrocannabinol (THC) น้อยกว่า 0.3% การปลูกระยะห่างระหว่างต้นจะแคบ เพราะปลูกเพื่อต้องการเส้นใยเพียงอย่างเดียว

กัญชา

กัญชา (Marijuana) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis sativa L. Subsp. indica (Lam.) E. Small & Cronquist มีความสูงไม่ถึง 2 เมตร ปล้องหรือข้อสั้น แตกกิ่งก้านมากและแตกกิ่งเป็นแบบสลับ เปลือกไม่เหนียว ลอกได้ยาก ให้เส้นใยสั้นมีคุณภาพต่ำ แผ่นใบเป็นสีเขียวถึงเขียวจัด ใบมีประมาณ 5-7 แฉก การเรียงตัวของใบจะชิดกัน เมื่อออกดอกจะมียางที่ช่อดอกมาก เมล็ดมีขนาดเล็ก ผิวเมล็ดมันวาว ใบเมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นหอมคล้ายหญ้าแห้ง มีสาร (tetrahydrocannabinol (THC) ประมาณ 1-10% การปลูกระยะห่างระหว่างต้นจะกว้าง เพราะปลูกเพื่อต้องการใบ

ภาพเปรียบเทียบใบกัญชา (บนซ้าย) ใบกัญชา (ล่างซ้าย) เมล็ดกัญชง (ขวา)

ประโยชน์ของกัญชง

“กัญชง” มีความสำคัญในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เนื่องจากคุณสมบัติทางเส้นใยที่มีคุณภาพสูง ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้หลายชนิด เช่น เสื้อผ้า, เยื่อกระดาษ, เชือก เป็นต้น โดยมีความแข็งแรงของเส้นใยมากกว่าฝ้ายถึง 2 เท่า และพบว่าการปลูกกัญชง 10 ไร่ จะให้ผลผลิตเส้นใยเท่ากับการปลูกฝ้าย 20-30 ไร่ ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่า กัญชงอาจมาเป็นสินค้าสำคัญในตลาดโลกและเป็นพืชเศรษฐกิจแข่งกับการปลูกฝ้ายได้

ขณะที่เมล็ดของ “กัญชง” มีประโยชน์เช่นกัน จากการมีโปรตีนสูงมากกว่าโปรตีนจากถั่วเหลือง มีการวิจัยเพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนถั่วเหลืองได้ เช่น น้ำเต้าหู้, เนย,ชีส, น้ำมันสลัด, โปรตีนเกษตร รวมทั้งสามารถนำมาทำแป้งได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีกรด Omega-3 ช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง

ทั้งนี้ การควบคุมการปลูกกัญชงและกัญชา ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งจัดอยู่ในข้อยกเว้นที่แตกต่างกัน