ชีวิตมนุษย์ใต้ดินแห่งกรุงโซล เรื่องจริงที่ยิ่งกว่าภาพยนตร์ชนชั้นปรสิต

  • จีน แมคเคนซี
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำเกาหลีใต้

ชาวเกาหลีใต้หลายแสนคนต้องคุดคู้อาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ขนาดเล็กจิ๋วใต้ดิน สัญลักษณ์แห่งความเหลื่อมล้ำที่กำลังขยายตัว และวิกฤตที่อยู่อาศัยที่นับวันยิ่งเลวร้ายในเกาหลีใต้

รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลให้คำมั่นจะขจัดอะพาร์ตเมนต์ที่เรียกกันว่า “พันจีฮา” ให้หมดไป หลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือน มิ.ย. 2022 ทำให้ผู้อาศัยในพันจีฮา 4 คน จมน้ำเสียชีวิต

แต่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านจิ๋วใต้ดินบอกกับบีบีซีว่า พวกเขากลัวจะไม่มีที่อาศัยอีกต่อไป

และนี่คือเรื่องราวของประชาชนที่อาศัยอยู่ใต้ดินที่ จีน แมคเคนซี ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกรุงโซล ได้ไปพูดคุยด้วย

อะพาร์ตเมนต์ที่เรียกว่าพันจีฮานี้ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากภาพยนตร์เรื่อง “ชนชั้นปรสิต” แต่เมื่อกรุงโซลเผชิญกับฝนตกหนักในรอบ 100 ปี ศิลปะบนแผ่นฟิล์มได้เกิดขึ้นในชีวิตจริง

“ตอนนั้น น้ำท่วมขึ้นมาถึงไหน” จีน ถามผู้อาศัยในพันจีฮารายหนึ่ง ซึ่งตอบด้วยการยกมือไปบนผนัง สูงถึงระดับใบหน้า บางคนชี้ขึ้นไปบนเพดานภายในอะพาร์ตเมนต์ใต้ดินของพวกเขา

ครอบครัวที่ต้องอยู่ใต้ดินในกรุงโซล

มนุษย์ใต้ดิน

น้ำท่วมสูงเอ่อทะลักเข้าพันจีฮา ทำให้ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากหนีออกมาไม่ทัน และมีผู้จมน้ำเสียชีวิต 4 คน เป็นเหตุผลที่รัฐบาลกรุงโซลต้องการกำจัดพันจีฮาให้หมดไป เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฎกรรมเช่นนั้นอีก

แต่แผนของกรุงโซลอาจทำให้ผู้อยู่อาศัยอย่าง ชา จอง-กวาน ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน

“การที่วิวที่ผมเห็นจากหน้าต่างคือแท่นคอนกรีต มันทั้งตลกและน่าเศร้า”

เขาย้ายเข้าไปอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ใต้ดินแห่งใหม่ เมื่อ 8 เดือนก่อน และโชคดีที่เขาออกนอกกรุงโซล ในช่วงที่เกิดน้ำท่วม แต่เขาต้องกลับมาเจอภาพข้าวของในบ้านถูกทำลาย

“ตอนผมเปิดประตู ข้าวของกระจัดกระจายไปหมด” เขาบอกกับจีน ก่อนเดินไปเปิดหน้าต่างขนาดเล็ก ที่มองออกไปเป็นกำแพงคอนกรีต

“การที่วิวที่ผมเห็นจากหน้าต่างคือแท่นคอนกรีต มันทั้งตลกและน่าเศร้า”

อันที่จริง ชามีอาชีพที่ดี ทำงานให้กับรัฐสภาแห่งชาติ แต่ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นมากในกรุงโซล ทำให้ค่าเช่าบ้านปรับสูงขึ้นตาม เมื่ออยู่บนดินที่ราคาแพงไม่ได้ ตัวเลือกของคนที่มีเงินไม่มากนัก ก็คือการลงใต้ดิน

ชา จอง-กวาน อาจต้องเป็นคนไร้บ้าน หากไม่มีบ้านพันจีฮา

“คุณอาจคิดว่ามันเล็ก แต่สำหรับผม มันเหมือนโรงแรมห้าดาว” เพราะอะพาร์ตเมนต์แห่งก่อนของชา มีขนาดเพียงแค่ 1 ใน 3 ของอะพาร์ตเมนต์พันจีฮาแห่งใหม่ “ที่เก่าผม นอนราบกลิ้งซ้ายขวา ก็ชนผนังห้องแล้ว”

“ผมไม่คิดว่าการกำจัดอะพาร์ตเมนต์กึ่งใต้ดินเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เพราะสำหรับคนอย่างผม สถานที่แบบนี้เป็นตัวเลือกเดียว”

จีน ผู้สื่อข่าวบีบีซี นั่งอยู่ในอะพาร์ตเมนต์พันจีฮาของชา เธอรู้สึกได้ว่า ถ้าน้ำท่วมเข้ามาในห้อง ชาคงรอดชีวิตได้ยาก แต่สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือการที่เขายอมรับความเสี่ยงนั้น

“มันโชคร้ายนะ แต่มันคือความเป็นจริงที่ผมต้องเผชิญ ผมต้องอยู่ที่นี่ และติดตามพยากรณ์อากาศอย่างระมัดระวัง”

พวกเราต้องหนีตาย

“แม่ผมเปิดประตู แล้วน้ำก็ทะลักลงบันไดมาเร็วมาก ผมจำไม่ได้ว่าเรารอดมาได้ยังไง” บุตรชายของจี-เอ เล่าถึงเหตุน้ำท่วมเมื่อเดือนก่อน ที่ท่วมเข้ามาในบ้านพันจีฮาของพวกเขา

จี-เอ มีบุตรชายสองคน อะพาร์ตเมนต์ของเธอถูกน้ำท่วมมาแล้ว 2 ครั้ง

“ไม่ว่าจะใต้ดินหรือบนดินก็ไม่สำคัญ...เราต่างก็มีความทรงจำที่ดีและไม่ดีทั้งนั้น”

“เราเคยอยู่บ้านอาคารสงเคราะห์ แต่พอสามีฉันเริ่มมีรายได้เกินข้อกำหนด เราก็อยู่ที่นั่นไม่ได้อีกแล้ว”

“ตอนมาอยู่นี่ครั้งแรก มีห้องพอสำหรับลูก ๆ ของเรา และห้องนั่งเล่น คิดว่าเราน่าจะมีความสุขได้…แต่ในฐานะแม่ ฉันเศร้าใจที่ต้องให้ลูก ๆ ต้องเผชิญสถานการณ์แบบนี้ถึงสองครั้ง” จี-เอ เล่า ก่อนจะร้องไห้ออกมา

แต่ลูกชายของเธอไม่ได้โทษพ่อแม่ เพราะรู้สึกว่า “ไม่ว่าจะใต้ดินหรือบนดินก็ไม่สำคัญ…เราต่างก็มีความทรงจำที่ดีและไม่ดีทั้งนั้น”

ทยอยขจัดบ้านกึ่งใต้ดิน

ข้อมูลของรัฐบาลจนถึงปี 2020 พบว่า มีอะพาร์ตเมนต์หรือแฟลตแบบพันจีฮาราว 200,000 แห่งในกรุงโซล หรือคิดเป็นที่พักอาศัยถึง 5% ของอาคารที่พักอาศัยทั้งหมดในกรุงโซล

แต่หลังเหตุน้ำท่วมใหญ่ รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลของเกาหลีใต้เตรียมสั่งรื้อถอน-ยกเลิก บ้านพักแบบกึ่งใต้ดิน หรือ “พันจีฮา”

โดยเหตุน้ำท่วมใหญ่ในกรุงโซล มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 11 คน โดยผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งเป็นผู้พักอาศัยในห้องพักแบบพันจีฮานี้ด้วย รวมถึงครอบครัวสองพี่น้องผู้หญิง พี่สาวอายุกว่า 40 ปี และน้องสาวอายุเพียง 13 ปี

ศิลปะบนแผ่นฟิล์มกลายเป็นเกิดขึ้นในชีวิตจริง

ที่มาของภาพ, PARASITE

โศกนาฎกรรมเกิดขึ้น ทำให้นับแต่นี้ไป รัฐบาลกรุงโซลจะไม่ออกใบอนุญาตก่อสร้างบ้านพักแบบนี้ ในขณะเดียวกันก็จะทยอยปรับปรุงอะพาร์ตเมนต์พันจีฮาที่มีอยู่เดิมด้วย

ส่วนผู้พักอาศัยในบ้านพักแบบพันจีฮาในปัจจุบัน ทางการกรุงโซลจะให้เวลา 20 ปี เพื่อดัดแปลงไปใช้ประโยชน์ในลักษณะอื่น ที่ไม่ใช่เพื่อการอยู่อาศัย อาทิ ห้องเก็บของ หรือที่จอดรถ พร้อมไปกับให้การสนับสนุนผู้พักอาศัยเหล่านี้ให้ย้ายไปอยู่ในบ้านอาคารสงเคราะห์ของภาครัฐต่อไป

“แต่เรากังวล” จี-เอ กล่าว เพราะรู้สึกว่าผู้ให้เช่าอะพาร์ตเมนต์ใต้ดิน จะไล่พวกเธอออกไป และครอบครัวของเธอก็มีทุนทรัพย์ไม่พอจะไปอยู่บ้านบนดินที่อื่น

อย่าพรากสิ่งนี้ไปในรุ่นเรา

“บ้านหลังนี้เป็นสิ่งเดียวที่ฉันซื้อในชีวิตฉัน” ยัง ออก-จา คุณยายเจ้าของบ้านพักแบบพันจีฮา บอกกับบีบีซี ปัจจุบัน เธอปล่อยเช่าแฟลตพันจีฮาให้แรงงานต่างด้าว 4 คนอยู่

“ฉันอดอาหาร ไม่ใส่เสื้อผ้าใหม่…ฉันเคยมีชีวิตที่ลำบากมาก่อน และอยู่ในบ้านที่ทรุดโทรมมาก”

ยัง ออก-จา คุณยายเจ้าของบ้านพักแบบพันจีฮา

รัฐบาลติดต่อเธอกับเจ้าของอะพาร์ตเมนต์พันจีฮาคนอื่น ๆ เพื่อมอบเงินให้ปรับปรุงอะพาร์ตเมนต์มาเป็นโกดังเก็บของ

แต่ด้วยอายุของยัง ที่ใกล้ 80 ปีแล้ว เธอรู้ดีว่า หนทางไม่ง่ายนัก แม้เธอจะเห็นด้วยว่าควรขจัดอะพาร์ตเมนต์กึ่งใต้ดินออกไป “แต่ไม่ต้องเกิดในรุ่นฉันได้ไหม ให้มันเป็นรุ่นต่อไป”

“เราอยู่ได้ด้วยค่าเช่าน้อยนิดที่ได้จากผู้เช่า เพื่อเอามาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตัวเอง”

“ถ้ารัฐบาลสั่งห้ามบ้านพักพันจีฮา แล้วจะให้เราทำยังไง”

อะพาร์ตเมนต์พันจีฮา มีอยู่มากมายทั่วกรุงโซล

ผู้คนกำลังเริ่มสร้างชีวิตกลับมาใหม่ หลังเผชิญอุทกภัยครั้งร้ายแรง แต่ดูเหมือนการย้ายขึ้นมาอยู่บนดินของผู้อาศัยในอะพาร์ตเมนต์พันจีฮา กลับดูยังห่างไกล

“คิดว่าคนอายุอย่างผม ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ถึงซื้ออะพาร์ตเมนต์ในโซลได้ ?” ชา จอง-กวาน ถามเอง และตอบเองว่า “ผมว่า 30-40 ปีเลยนะ

ส่วน จี-เอ มองว่า “ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหน เราก็จะติดอยู่ข้างใต้นี้”

“ฉันอยากพาลูก ๆ ขึ้นจากใต้ดิน ให้พวกเขาเห็นท้องฟ้า ไม่ต้องทนกับกลิ่นเหม็นสาบของชั้นใต้ดินแบบนี้ เราจะได้มีชีวิตด้วยกันท่ามกลางอากาศบริสุทธ์เสียที”

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว