กองทุนประกันชีวิต ลดพอร์ตเงินฝาก หันลงทุนหุ้นกู้ ช่วงดอกเบี้ยขยับ

กองทุนประกันชีวิต โชว์บริหารพอร์ตลงทุนเน้นเสี่ยงต่ำ เรียกเก็บเงินสมทบ-รับเงินล่วงพ้นอายุความ มีสภาพคล่องหน้าตัก 9.6 พันล้านบาท ช่วงที่เหลือของปีเล็งลดพอร์ตเงินฝากประจำ หันลงทุนหุ้นกู้ ปั้นยีลด์สิ้นปีสูงกว่า 1.2%

วันที่ 8 ตุลาคม 2565 นายนพพล เบี้ยวไข่มุก ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต (กปช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.65) กองทุนฯมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 9,687 ล้านบาท โดยเม็ดเงินสภาพคล่องจำนวนนี้เป็นเงินของผู้เอาประกันและบริษัทประกันชีวิตที่สมทบเข้ามา ซึ่งต้องรักษาเงินต้นไว้ให้อยู่ครบถ้วน ทำให้การบริหารพอร์ตลงทุนมีกรอบกำหนดให้ลงทุนได้เฉพาะสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยห้ามลงทุนในตลาดหุ้น

ลดพอร์ตเงินฝาก หันลงทุนหุ้นกู้

ซึ่งปัจจุบันพอร์ตลงทุนของกองทุนฯ ประกอบด้วย 1.เงินฝากประจำ อัตราดอกเบี้ย 1% สัดส่วน 92% และ 2.พันธบัตรรัฐบาล อีกสัดส่วน 8% โดยสิ้นเดือน ก.ค.สร้างผลตอบแทนจากลงทุนอยู่ที่ 1.19% และช่วงที่เหลือของปีกองทุนฯมีแผนปรับพอร์ตลดการลงทุนผ่านเงินฝากประจำ และเปลี่ยนไปลงทุนผ่านหุ้นกู้ อันดับเครดิตเรทติ้ง A ขึ้นไป เน้นเซ็กเตอร์ปลอดภัย เช่น พลังงาน เป็นต้น

ทั้งนี้คาดหวังผลตอบแทนจากลงทุนสิ้นปี 65 จะพยายามดึงขึ้นมาให้สูงกว่าระดับ 1.2% ซึ่งเป็นรีเทิร์นปีที่แล้ว โดยมอนิเตอร์สถานการณ์ทั่วโลกและสามารถปรับพอร์ตได้ทุกเดือน

“จริง ๆ อยากปั้นรีเทิร์นให้ได้มากกว่าเดิม แต่ติดเรื่องเกณฑ์ที่ห้ามลงทุนในตลาดหุ้นเพราะมีความเสี่ยงสูง ถ้าจะปรับการลงทุนก็ทำได้ แต่ต้องขอความเห็นชอบจากอนุกรรมการลงทุน และต้องเข้าคณะกรรมการกองทุน(บอร์ด) ด้วย แต่ตอนนี้ยังค่อนข้างอนุรักษ์นิยม (Conservative)”

นายนพพล กล่าวว่า สภาพคล่องของกองทุนฯมาจากเงินสมทบจากบริษัทประกันชีวิต 2 ส่วนคือ 1.เรียกเก็บเงินสมทบ 0.1% ของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทุก 6 เดือน เป็นเงินประมาณ 300 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ 600 ล้านบาทต่อปี ตามมาตรา 85/3 พ.ร.บ.ประกันชีวิต

2.ได้รับเงินล่วงพ้นอายุความ (เงินที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์ไม่ได้มาเรียกร้องจากบริษัทประกันชีวิตจนพ้นอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิได้รับเงิน) ตามมาตรา 52 ประมาณเดือนละ 20 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ 240 ล้านบาทต่อปี

ซึ่งปัจจุบันมีเงินล่วงพ้นอายุความมีอยู่ทั้งสิ้น 1,506 ล้านบาท เนื่องจากมีประชาชนมารับเงินกองทุนล่วงพ้นอายุความไปแล้ว 65 ล้านบาท (นับตั้งแต่ปี 2551-2565 จำนวนกว่า 12,000 รายการ) และเฉพาะ 7 เดือนแรกปีนี้จ่ายเงินออกไปได้ 21 ล้านบาท จำนวน 4,200 รายการ คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะสามารถจ่ายเงินได้รวม 15,000 รายการ ทั้งนี้หากไม่ได้มาเรียกร้องจากกองทุนครบ 10 ปี เงินก้อนนี้จะตกเป็นของกองทุนโดยปริยาย ซึ่งขณะนี้มีเม็ดเงินตกเป็นของกองทุนแล้ว 192 ล้านบาท จำนวน 1.3 แสนรายการ (ข้อมูลสิ้น ส.ค.65)

อย่างไรก็ดี กองทุนฯมีเป้าหมายในการเติบโตตามแผนยุทธ์ที่ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กองทุนฯ ระยะ 5 ปี (2566-2570) ส่วนหนึ่งคือจะต้องจ่ายเงินล่วงพ้นอายุความให้ประชาชน เติบโตระดับ 100% หรือกว่า 50,000 รายการ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า