
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งหนังสือเวียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณี กกต.มีมติเอกฉันท์ ไม่เห็นชอบแต่งตั้ง นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่า กฟผ.คนใหม่ เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 (2) ว่าด้วยอำนาจ ครม. ในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง
วันที่ 10 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ได้รับเอกสารหรือหนังสือเวียน ที่ส่งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 เรื่อง ผลการพิจารณาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ ซึ่ง ครม.มีมติรับทราบ ผลการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเสียงข้างมาก ไม่เห็นชอบแต่งตั้ง นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่า กฟผ. คนใหม่
- หวั่น EV ไทย…ซ้ำรอยจีน
- “ทรู-ดีแทค” ถล่มโปร “คืนค่าเครื่อง” ย้ำรวมกันได้มากกว่า
- เปิด “ผังน้ำ” ประกบผังเมือง เขย่าราคาที่ดินทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เหตุผลของ กกต. ระบุตอนหนึ่งว่า ตามที่ ครม.เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ได้เห็นชอบให้นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่า กฟผ.และส่งให้ กกต.พิจารณาตามขั้นตอนแล้วนั้น ผลการพิจารณาของ กกต.เสียงส่วนใหญ่ ไม่อนุมัติตามที่ ครม.เสนอ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 169 (2) เนื่องจากพิจารณาแล้วว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน โดยนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.คนปัจจุบันจะหมดวาระในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 กกต.จึงให้รอรัฐบาลชุดใหม่มาพิจารณา หรือในการประชุม ครม.สามารถหารือและจัดทำข้อเสนอในเหตุผลเพิ่มเติมได้และยื่นไปยัง กกต.อีกครั้งได้
อำนาจที่ กกต. นำมาพิจารณาในการตีกลับการแต่งตั้งครั้งนี้ เป็นไปตามการหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่จำกัดการใช้อำนาจของรัฐบาลรักษาการไว้ โดยเฉพาะในกรณีที่คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงด้วยเหตุอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร หรือในกรณีที่จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่
โดย กกต. อ้างถึงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 169 กำหนดข้อห้ามว่า ด้วยเรื่องสำคัญ ๆ สำหรับรัฐบาลรักษาการไว้ ได้แก่
1) ห้ามอนุมัติงานหรือโครงการ ที่ก่อภาระผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ยกเว้นกรณีที่กำหนดไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่แล้ว
2) ห้ามการแต่งตั้งโยกย้ายหรือถอดถอนบุคลากรของรัฐ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน
3) ห้ามอนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน
4) ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐที่อาจมีผลในการเลือกตั้ง
สำหรับนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ได้รับการเห็นชอบ ให้ขึ้นเป็นผู้ว่า กฟผ. ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 มติตอนหนึ่ง ระบุว่า “เห็นชอบตามการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ คือ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการซึ่งปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป โดยจะได้รับผลตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบแล้ว”
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ได้ถูกคัดเลือกโดยการประชุมคณะกรรมการ กฟผ. ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 เห็นชอบให้เป็นผู้ว่าการคนใหม่แทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ที่จะหมดวาระในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และได้นำรายชื่อดังกล่าวเสนอต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เพื่อนำเสนอ ครม.
โดยนายเทพรัตน์ เอาชนะคู่แข่งที่ลงสมัครอีก 3 ราย คือ 1.นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง 2. นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน 3. น.ส.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยคณะกรรมการสรรหามีมติ 3 ต่อ 2 เลือกนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่
- ครม.ไฟเขียว “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” นั่งผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่ แบกหนี้แสนล้าน
- เปิดประวัติ เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ว่าที่ ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่