
ที่ประชุมรัฐสภา ส.ว.-ส.ส. โหวตนายพิธารอบ 2 เป็นญัตติต้องห้าม ขัดข้อบังคับการประชุม ข้อ 41 ด้วยเสียง 395 ต่อ 312 งดออกเสียง 8 ไม่ลงคะแนน 1 จากจำนวนผู้ลงมติ 715 คน
วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ เป็นครั้งที่ 2 โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เริ่มขึ้นในเวลา 09.30 น. ทั้งนี้ มีสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 748 คน การได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 375 คน
เริ่มต้นโดย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้รับรอง 304 เสียง จากนั้น นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ลุกขึ้นประท้วงว่า การที่สมาชิกรัฐสภาเสนอนายพิธาเป็นนายกฯนั้น รัฐสภากำลังทำผิดข้อบังคับข้อที่ 41 ที่บัญญัติว่าญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำเสนอซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นมาเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังไม่ได้ลงมติ ซึ่งเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ได้มีการลงมตินี้ไปแล้ว
โดยนายพิธาได้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และข้อบังคับของรัฐสภามีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาจะต้องยึดถือปฏิบัติ
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จึงประท้วงว่า เรากำลังดำเนินการตามระเบียบวาระของการประชุม ในการที่จะต้องเลือกผู้ที่จะไปเป็นนายกฯ และตามข้อบังคับที่ 5 ประธานรัฐสภา มีอำนาจที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งเรากำลังดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ
แต่การที่นายอัครเดช หารือเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง และเรากำลังดำเนินการในการเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสม ซึ่งอยู่ตามบัญชีที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ ดังนั้น กระบวนการเช่นนี้สุ่มเสี่ยงอย่างมาก ผิดขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จึงวินิจฉัยว่า ไม่ผิดข้อบังคับ ถือว่ายังอยู่ในข้อบังคับอยู่ เพราะยังไม่มีการโหวต เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นแล้วได้อย่างเต็มที่ จากนั้นให้นายอัครเดชอภิปรายต่อ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีการประท้วงกันไปมาในแต่ละฝ่ายนานกว่า 2 ชั่วโมง ว่าการเสนอชื่อนายพิธา กระทำได้หรือไม่ เนื่องจากขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ขณะที่ฝ่ายพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย อภิปรายโต้แย้งว่ารัฐธรรมนูญใหญ่กว่าข้อบังคับ เนื่องจากการโหวตนายกรัฐมนตรี เป็นญัตติพิเศษที่บัญญัติเฉพาะในรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งสามารถเสนอชื่อนายพิธาได้ เพราะไม่ใช่ญัตติกฎหมายปกติ
โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เสนอญัตติให้ที่ประชุมลงมติว่าการเห็นชอบบุคคลเป็นนายกฯ ขัดต่อข้อบังคับข้อที่ 41 และไม่ควรเสนอญัตติซ้ำ โดยมีผู้รับรอง ทำให้ที่ประชุมถกเถียงกันว่าจะตีความญัตติกันอย่างไร จะลงมติอย่างไร โดยมีการเสนอให้ตีความตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 151 ที่ระบุว่า ในกรณีถ้ามีปัญหาที่จะต้องตีความข้อบังคับนี้ ให้เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะวินิจฉัย และเมื่อที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติวินิจฉัยโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเป็นประการใดแล้ว ให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นเด็ดขาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง จากนั้นเวลา 16.56 น. โดยใช้เวลารวมทั้งสิ้นกว่า 8 ชั่วโมง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จึงให้มีการลงมติ โดยมีผู้แสดงตนทั้งสิ้น 708 คน ถือว่าครบองค์ประชุม
ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ญัตติเสนอชื่อนายพิธาเป็นญัตติที่ตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐธรรมนูญ ข้อ 41 ด้วยเสียง 395 ต่อ 312 งดออกเสียง 8 ไม่ลงคะแนน 1 จากจำนวนผู้ลงมติ 715 คน