ย้อนวันสวรรคตครบ 7 ปี หรือ “สัตตมวรรษ” ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับโครงการพระราชดำริ ตั้งแต่โครงการแรก ด้วยพระราชดำรัส “ขาดทุนคือกำไร Our loss is our gain” ตลอด 70 ปีแห่งการครองราชสมบัติ ทรงงาน 40,000 โครงการ
13 ตุลาคม 2566 เป็นวันแห่งการเสด็จสวรรคต ครบ 7 ปี หรือ “สัตตมวรรษ” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
รัฐบาลจึงได้นำความกราบบังคมทูลพระมหากรุณาขอพระราชทานชื่อวันคล้ายวันสวรรคต และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระดำริประทานชื่อวันดังกล่าว ประกอบพระบรมราชวินิจฉัยว่า “วันนวมินทรมหาราช” ซึ่งแปลว่า วันที่ระลึกถึงพระมหาราช รัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่
“วันนวมินทรมหาราช”
การนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ตามที่รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระมหากรุณา อีกทั้ง รัฐบาลยังได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันนวมินทรมหาราช”
ย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อน พสกนิกรชาวไทย และชาวโลก รับทราบข่าวผ่านประกาศสำนักพระราชวัง ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 มีความว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต
ประกาศระบุด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2557 ตามที่ สำนักพระราชวัง ได้แถลงให้ทราบ เป็นระยะแล้วนั้น
“แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับ ถึงวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองพระราชสมบัติได้ 70 ปี”
แถลงการณ์ สำนักพระราชวัง ฉบับที่ 36
ก่อนถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ อย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 36 ความว่า
“วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รายงานพระอาการระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2559-1 ตุลาคม 2559 ว่า ได้ถวายการตรวจติดตามพระอาการหลังจากการอักเสบของพระปัปผาสะ (ปอด) ลดลงแล้ว โดยการถวายตรวจเอกซเรย์พระปัปผาสะ (ปอด) เป็นระยะ ไม่พบลักษณะของการอักเสบ แต่มีพระปรอท (ไข้) ต่ำ ๆ เป็นครั้งคราว ผลการตรวจพระโลหิตไม่บ่งชี้ว่ามีการอักเสบติดเชื้อ จึงได้หยุดการถวายพระโอสถปฏิชีวนะ”
ต่อมา ระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน 2559 มีพระปรอท (ไข้) ต่ำ ๆ พระชีพจรเริ่มเร็วขึ้น หายพระทัยเร็ว และมีพระเสมหะมาก ผลการตรวจพระโลหิตบ่งชี้ถึงการอักเสบติดเชื้อ ผลเอกซเรย์ของพระปัปผาสะ (ปอด) พบลักษณะการอักเสบของพระปัปผาสะ (ปอด) ด้านซ้าย และพบว่ามีน้ำคั่งในช่องเยื่อหุ้มพระปัปผาสะ (ปอด) เล็กน้อย คณะแพทย์จึงได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559
วันนี้ ไม่มีพระปรอท (ไข้) การหายพระทัยเป็นปกติ พระเสมหะลดลง และผลการตรวจพระโลหิตบ่งชี้ถึงการอักเสบติดเชื้อลดลง แต่พระบังคนเบา (ปัสสาวะ) ยังคงมีปริมาณน้อย คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาด้วยวิธีทดแทนไต (CRRT) ต่อไป และเฝ้าติดตามพระอาการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด สำนักพระราชวัง จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
แถลงการณ์ สำนักพระราชวัง ฉบับที่ 37
จากนั้นในวันที่ 9 ตุลาคม 2559 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 37 ความว่า
วันนี้คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รายงานว่า ในวันที่ 8 ตุลาคม 2559 คณะแพทย์ได้ขอพระราชทานถวายใส่สายสวนเข้าหลอดพระโลหิตดำ เพื่อเตรียมการสำหรับการฟอกพระโลหิต (Hemodialysis) ระยะยาว และเปลี่ยนสายระบายน้ำไขสันหลังในโพรงพระสมองบริเวณบั้นพระองค์ (เอว) ตั้งแต่เวลา 14 นาฬิกา ถึง 16 นาฬิกา 40 นาที
ปรากฏภายหลังว่า มีความดันพระโลหิตลดต่ำลงเป็นครั้งคราว คณะแพทย์จึงได้ถวายพระโอสถ และได้ใช้เครื่องช่วยหายพระทัย (Ventilator) เพื่อทำให้ความดันพระโลหิตกลับสู่ระดับปกติ จนกระทั่งเวลา 3 นาฬิกา วันนี้ มีพระชีพจรเร็วขึ้น ความดันพระโลหิตลดลง ผลการตรวจพระโลหิต พบว่าพระโลหิตมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น ผลการตรวจพระหทัยด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (Echocardiography) พบว่าปริมาณพระโลหิตที่เข้าสู่พระหทัยด้านซ้ายช่องล่างลดลงมาก อันเป็นผลจากการที่มีความดันพระโลหิตในพระปัปผาสะ (ปอด) สูง
คณะแพทย์ได้ถวายพระโอสถขยายหลอดพระโลหิตในพระปัปผาสะ (ปอด) เมื่อเวลา 15 นาฬิกา ทำให้พระชีพจรเริ่มลดลง และความดันพระโลหิตดีขึ้น คณะแพทย์ได้เฝ้าติดตามพระอาการและถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพระอาการประชวรโดยรวมยังไม่คงที่ และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้งดพระราชกิจ จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
แถลงการณ์ สำนักพระราชวัง ฉบับที่ 38
ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2559 สำนักพระราชวัง ออกแถลงการณ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 38 ความว่า
วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ความดันพระโลหิตต่ำลงอีก พระชีพจรเต้นเร็วขึ้น ร่วมกับภาวะพระโลหิตมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นอีก ผลของการถวายตรวจพระโลหิตบ่งชี้ว่ามีภาวะการติดเชื้อและการทำงานของพระยกนะ (ตับ) ผิดปกติ
คณะแพทย์ได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะ และแก้ไขภาวะพระโลหิตมีความเป็นกรด ตลอดจนถวายพระโอสถควบคุมความดันพระโลหิตเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งถวายเครื่องช่วยหายพระทัย (Ventilator) และถวายการรักษาด้วยวิธีทดแทนไต (CRRT) พระอาการประชวรโดยรวมยังไม่คงที่ ต้องควบคุมด้วยพระโอสถ คณะแพทย์ได้เฝ้าติดตามพระอาการและถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด
พระราชดำริ 4,000 โครงการ
เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “วันนวมินทรมหาราช” 13 ตุลาคม 2566 หน่วยราชการในพระองค์ ขอเผยแพร่พระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เพื่อน้อมรําลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งมีเนื้อความบางส่วน ดังนี้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้ทรงรับรู้ถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎร
ดังเช่นเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อพุทธศักราช 2495 ทรงได้รับทราบถึงปัญหาและความยากลำบากในการเดินทางสัญจรของราษฎร จึงเป็น ที่มาของโครงการสร้างถนนสายห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการพระราชดำริด้านพัฒนาชนบทโครงการแรก ที่มุ่งช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่ราษฎรกำลังประสบอยู่
ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่าขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของราษฎรในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้มีน้ำจืดไว้สำหรับบริโภคและอุปโภคได้ตลอดทั้งปี นับเป็นโครงการพระราชดำริด้านชลประทานโครงการแรก หลังจากนั้น ทรงริเริ่มโครงการด้านการพัฒนาชนบทอีกหลากหลายโครงการ ทั้งโครงการที่เกี่ยวกับดิน น้ำ ป่าไม้ การประมง และการปศุสัตว์ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และยังเป็นการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
พระกรณียกิจ 70 ปีแห่งการครองราชย์
ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลทำให้ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ ประเทศไทยจึงมีโครงการพระราชดำริ/โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการส่วนพระองค์ โครงการตามพระราชประสงค์ จำนวนกว่า 4,000 โครงการ และมีศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่ง ในทุกภูมิภาคของประเทศ พระราชกรณียกิจที่ยังประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์มากมายเหลือคณานับ ได้แก่
พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดิน พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา พระราชกรณียกิจด้านการคมนาคม พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย พระราชกรณียกิจด้านการเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ทรงปฏิบัติพระองค์ดังพระปฐมบรมราชโองการที่ได้พระราชทานในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระราชดำรัส “ขาดทุนคือกำไร”
อีกทั้งทรงพระวิริยะอุตสาหะทุ่มเทกำลังพระวรกายและพระราชทรัพย์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น ดังพระราชดำรัสว่า “…ขาดทุนคือกำไร (Our loss is our gain)…” ซึ่งทรงขยายความว่า การลงทุนทำโครงการเพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนนับเป็นมูลค่าเงินไม่ได้ สิ่งที่ได้คือคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและประเทศชาติได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ภาพพระราชกรณียกิจที่ปรากฏแก่สายตาประชาชนทั้งในและนอกประเทศ ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ต่างรับรู้โดยทั่วกันว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการเป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์แก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงเป็นพระมิ่งขวัญและหลักยึดเหนี่ยวของพสกนิกรชาวไทย
ครบ 7 ปี “สัตตมวรรษ” แห่งการเสด็จสวรรคต
แม้เสด็จสวรรคตล่วงมาจนปัจจุบัน เหล่าพสกนิกรยังคงคำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณเสมอมาไม่เสื่อมคลาย และเพื่อให้วันคล้ายวันสวรรคต เป็นวันแห่งการร่วมรำลึกและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ แห่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน
ประกอบวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2566 เป็นวันแห่งการเสด็จสวรรคต ครบ 7 ปี หรือ “สัตตมวรรษ” รัฐบาลจึงได้นำความกราบบังคมทูลพระมหากรุณาขอพระราชทานชื่อวันคล้ายวันสวรรคต และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระดำริประทานชื่อวันดังกล่าว ประกอบพระบรมราชวินิจฉัยว่า “วันนวมินทรมหาราช” ซึ่งแปลว่า วันที่ระลึกถึงพระมหาราช รัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่
การนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ตามที่รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระมหากรุณา อีกทั้ง รัฐบาลยังได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันนวมินทรมหาราช”
หน่วยราชการภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนสามารถมาวางพวงมาลาถวายราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร