“บิ๊กสร้าง” ลั่นปฏิรูปตำรวจ ยึดทางสายกลาง ลดแนวคิดสุดโต่ง แต่งตั้งโยกย้ายต้องเสร็จสิ้นปีนี้ ยันบิ๊ก รบ.ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ประยุทธ์เน้น 3 ประเด็น สังกัดองค์กร งานยุติธรรม แต่งตั้งโยกย้ายประชุมนัดแรก 12 ก.ค.นี้
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 7 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แถลงภายหลังรับมอบนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการฯแสดงความเห็น ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ยืนยันเราทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จตามเป้าหมายเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งการทำงานจะต้องรีบทำในระยะเร่งด่วน โดยเฉพาะเรื่องการบริหารงานบุคคล คือ เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายเป็นหลักที่ต้องทำให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ และการซื้อขายตำแหน่งจะต้องหมดไป ขณะเดียวกันเราก็มีผลการศึกษาในอดีตจำนวนมากจะต้องนำไปศึกษาและนำมาสรุป ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่ดีที่จะทำงานในแต่ละเรื่องที่แต่คณะอนุกรรมการจะต้องรับผิดชอบ รวมถึงการทำงานของเราจะมุ่งไปที่ภาคประชาชนเป็นสำคัญด้วยการดึงภาคประชาชนมาให้ข้อมูล
พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ส่วนเรื่องระบบงานสอบสวนที่มีข้อเรียกร้องให้แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)นั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ต้องคิดกันต่อ เพราะเป็นปัญหาที่จะต้องหาคำตอบออกมาให้ ร่วมถึงการกระจายอำนาจให้ขึ้นตรงกับจังหวัด ซึ่งเราจะมุ่งตรงนี้ด้วย เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญซึ่งเรื่องของตำรวจทั้ง 76 จังหวัดให้มาที่ส่วนกลางน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ตนเป็นทหารเขามอบหน้าที่ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ยืนยันเราจะพยายามทำงานให้เร็วที่สุดให้เสร็จล่วงหน้า และปฏิรูปโดยยึดทางสายกลาง ความคิดสุดโต่งจะต้องหลีกเลี่ยง
พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า เหตุผลที่ตัดสินใจรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ เนื่องจากเกษียณอายุราชการมาแล้ว ถ้ามีอะไรทำเพื่อส่วนรวมเราไม่ควรจะปฏิเสธ หากมีคนอื่นที่เขาดีกว่าตนยินดี แต่เขาคงหาคนไม่ได้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้มีเงื่อนไขใดๆ กับตน
เมื่อถามว่า ครั้งนี้สังคมคาดหวังค่อนข้างมาก ในฐานะประธานจะให้ความเชื่อมั่นอย่างไรว่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า “ขั้นตอนเรื่องนี้อย่างไรต้องสำเร็จ เพราะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าต้องเสร็จเมื่อใด แต่สำเร็จหรือไม่ ถ้าเราตอบว่าสำเร็จ ต้องโอ้โห! ชั้นเลิศเลย แต่จะพอใจทุกคนมันคงไม่ถึงขนาดนั้น แต่เราจะทำให้ดีที่สุด ทุกอย่างไม่มีร้อยเปอร์เซ็นต์ ตนเชื่อมั่นเมื่อดูตัวคณะกรรมการแล้ว ที่ตั้งมาคนดีๆ ทั้งนั้น เป็นคนที่ให้ความร่วมมือ และไม่ใช่คนที่มีความคิดสุดโต่ง เชื่อมั่นว่าจะทำได้”
เมื่อถามว่า ครั้งนี้จะพลิกโฉมวงการตำรวจได้หรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ตำรวจมีคนดีๆ หลายคน ตนจึงคิดว่าเรื่องนี้ต้องดีขึ้น เมื่อถามว่า รูปแบบการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจจะยึดแบบกองทัพหรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า คงไม่มีอะไรตายตัวขนาดนั้น ขอให้คณะกรรมการช่วยกันคิด
เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าสัดส่วนของตำรวจในคณะกรรมการชุดนี้จะไม่เป็นอุปสรรคในการผ่าตัดโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ลงเอยมันคงน้อยมากสำหรับโอกาสที่จะโหวตด้วยวิธีการยกมือว่าของใครมากกว่ากัน เราคงไม่ทำงานด้วยการเอาชนะ แต่จะทำงานด้วยการชวนกันให้ลงความเห็น ใช้เหตุผล ดังนั้น จะไม่ค่อยมีปัญหา มันไม่ใช่สภา อย่างกองทัพเราทำงานด้วยการช่วยๆ กันคิด
เมื่อถามว่า ส่วนตัวมีโมเดลตำรวจของประเทศใดในใจบ้าง พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า เรื่องตำรวจเขามีการศึกษาและจัดทำไว้มากมาย หลังจากนี้จะได้มีการสรุปให้ทุกคนรับฟัง และวันนี้มีคนหนึ่งที่รู้เรื่องตำรวจดีบอกว่าไม่มีองค์กรไหนในประเทศไทยที่มีการศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้างจนมีข้อมูลมากที่สุดเท่าสตช.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าคณะกรรมการทั้ง 36 คน มีตำรวจมากเกินไป ตนขอชี้แจงว่า สัดส่วนนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่าในคณะกรรมการจะต้องมีตำรวจครึ่งหนึ่งของผู้ที่ไม่ใช่ตำรวจ อีกทั้งยังกำหนดให้ประธานต้องไม่ใช่ตำรวจ โดยก่อนหน้านี้ นายกฯได้ทาบทามผู้ที่มีชื่อเสียง ทางด้านการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่เนื่องจากติดเงื่อนไขหลายประการ จึงไม่สามารถเข้ารับตำแหน่งได้ ต่อมานายกฯจึงได้แต่งตั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ซึ่งมีความเข้าใจในด้านโครงสร้าง ความมั่นคง การจัดระเบียบองค์กร โดยทำงานลักษณะนี้มาตลอดชีวิต จึงเชื่อว่าจะมีความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาด้านการปฏิรูปตำรวจ นอกจากนี้ยังมีกรรมการโดยตพากศำแหน่ง 5 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรม, ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, อัยการสูงสุด และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เมื่อรวมกับตำรวจ 15 คน และไม่ใช่ตำรวจอีก 15 จึงรวมเป็น 36 คน จึงขออย่าได้วิพากษ์วิจารณ์กันไปมาให้เกิดความร้าวฉานว่าเป็นการนำทหารมาปฏิรูปตำรวจ ทั้งๆที่พล.อ.บุญสร้างเกษียณอายุราชการมา 10 ปีแล้ว
นายวิษณุกล่าวว่า นอกจากนี้ ในคณะกรรมการยังได้คัดสรร ผู้ที่มีความเป็นนักวิชาการ ที่เข้าใจในรัฐประศาสนศาสตร์ เช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ฯลฯ ส่วนภาคปฏิบัติ มีเลขาธิการ กพร., อดีตเลขาธิการ กพ. ส่วนพลเรือนหรือทหาร ที่เข้าใจในกิจการตำรวจ มีคนที่เคยเป็นหรือกำลังอยู่ในตำแหน่งนายกสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ อีกทั้งยังมีคนที่เข้าใจโครงสร้างกฎหมาย และอำนาจการสอบสวนทนายความ, อัยการ, ผู้พิพากษา, รองอัยการสูงสุด และตัวแทนสื่อมวลชน ส่วนตำรวจที่มี 15 คน ส่วนใหญ่จะอยู่ในตำแหน่งแค่ 2-3 คนเท่านั้น
นายวิษณุกล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ จะประชุมนัดแรกในวันพุธที่ 12 กรกฏาคม โดยที่ประชุมจะกำหนดว่า จะกำหนดการประชุมไว้กี่ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนสถานที่จะหมุนเวียนไปเรื่อยๆตามความสะดวก เช่นครั้งแรก อาจะประชุมที่กองบัญชาการกองทัพไทย ส่วนครั้งต่อมาอาจะประชุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ฯลฯ พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังจะตั้งอนุกรรมการด้านต่างๆ เบื้องต้นจะมีอนุกรรมการด้านการรับฟังความคิดเห็นด้วย เนื่องจากคำสั่ง ที่นายกฯลงนาม ได้กำหนดให้มีการเชิญ อดีตอธิบดีกรมตำรวจและอดีต ผบ.ตร. ทุกคนมาให้ให้ความเห็น พร้อมรับฟังความเห็นของข้าราชการตำรวจ ประชาชน สื่อมวลชน
นายวิษณุ กล่าวว่า พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. หนึ่งในกรรมการปฏิรูปตำรวจ เสนอให้ พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. และหนึ่งในกรรมการ ให้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ส่วนผู้ช่วยเลขานุการ จะต้องมีตำรวจและผู้ที่ไม่ใช่ตำรวจ ทั้งนี้ที่ประชุมมอบหมายให้ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นโฆษกคณะกรรมการชุดนี้ นอกจากนี้นายกฯยังได้กำชับให้นำรายงานหรือข้อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการปฏิรูป ที่เคยทำมาในอดีตมาศึกษา ซึ่งที่ผ่านมามีการศึกษาถึงเรื่องนี้อยู่หลายกรณี เช่นของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สตช., กระทรวงยุติธรรม รวมถึงงานวิจัยของนายคณิต ณ นคร อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, นพ.ประเวศ วะสี นักวิชาการ โดยนำมาสรุป เพื่อเป็นข้อศึกษาของคณะกรรมการ
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนเนื้อหาสาระในการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดนี้นายกรัฐมนตรีให้แนวทางว่านายกฯให้ความสำคัญประเด็นใหญ่ๆ 3 ประเด็นเป็นโจทย์ ให้กรรมการทั้ง 36 คนนี้ต้องตอบ คือ 1. ประเด็นเกี่ยวกับองค์กร ให้ไปพิจารณาว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรสังกัดที่ไหน เช่น อยู่อย่างเดิม หรือกลับไปมหาดไทย หรือไปยุติธรรม หรือขึ้นกับจังหวัด ท้องถิ่น ตั้งเป็นกระทรวง ทบวง ให้ไปคิดในแง่โครงสร้าง นอกจากนั้น โครงสร้างองค์กร ที่มีอยู่อะไรที่ควรกระจายออกไป ไม่ควรกระจุกในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจอื่นๆ ให้ไปดูว่าจะอย่างไร 2. ประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม นั่นคือ พิจารณาเรื่องอำนาจสอบสวน จะคงอย่างเดิม หรือจะแยก หรือจะจัดอย่างไร จะทำงาน ประสานกันอย่างไร ระหว่างตำรวจ มหาดไทย อัยการ ดีเอสไอ จะทำงานเชื่อมหรือจะแยกกันอย่างไร ก็ให้คิดด้วย
นายวิษณุ กล่าวว่า 3. ประเด็นการบริหารงานบุคคล หมายถึงเรื่องการต่างตั้งโยกย้าย การคัดคนเข้ามาเป็นตำรวจจะใช้หลักสูตรอะไร หลักสูตรโรงเรียนนายร้อยตำรวจเหมาะสม ทันสมัยหรือไม่ การเลื่อน ลด ปลดย้าย วินัย การให้ตำรวจมีเครื่องแบบหรือไม่มีเครื่องแบบ การโอนตำรวจไปอยู่กระทรวงอื่นจะเทียบกันอย่างไร การจัดสรรพกำลังที่จะเสริมการทำงานของตำรวจ จริงหรือไม่ที่ตำรวจจะซื้อปืน จะเติมน้ำมันรถมอร์เตอร์ไซด์แล้วต้องหาเอง ก็เลยเป็นช่องทางไปขอบริจาคประชาชน เกิดการเป็นเจ้าพระเดชนายพระคุณ เรื่องนี้จะแก้ไขอย่างไร แม้แต่เรื่องนิติวิทยาศาสตร์ที่เป็นหน่วยงานเสริมการทำงานของตำรวจจะทำอย่างไรจึงจะทำงานร่วมกันได้กับหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมไม่เกิดความขัดแย้งกัน
นายวิษณุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเสนอแนะแจกให้กรรมการทุกคนเป็นเอกสารเขียนด้วยลายมือนายกฯเอง จำนวน 13 หน้า ซึ่งก็ต้องขอไปถอดรหัสก่อน โดยนายกฯได้อธิบายทั้งหมดในห้องประชุมแล้วซึ่งเป็นไปตามที่ตนได้กล่าวไปข้างต้น ทั้งนี้นายกฯให้โจทย์ไปดูเรื่องระบบการแต่งตั้งโยกย้ายว่าจะใช้ระบบอาวุโสหรืออย่างใหม่อีก จะอาวุโสล้วนๆ หรืออาวุโสผสมคุณงามความดีความชอบ จะแบ่งสัดส่วนเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่อย่างไร เรื่องนี้ในคำสั่งที่ตั้งกรรมการชุดนี้ว่าต้องนำเรื่องนี้ออกมาทำก่อน และต้องให้เสร็จภายในปีนี้ โดยแจ้งด้วยวาจา ว่า เสร็จเร็วยิ่งเป็นการดี เผื่อจะได้ใช้เร็ว ซึ่งนายกฯให้สูตร 2-3-4 ไว้ คือ 2 เดือนแรก ให้คุยกันเรื่องปัญหาทั้งหมด อ่านงานวิจัยเก่าๆให้หมด 3 เดือนถัดไป ยกร่างกฎหมาย กำหนดกฎเกณฑ์ กติกาให้เสร็จ 4 เดือนต่อมา รับฟังความคิดเห็นแล้วย้อนกลับมาแต่งเติมส่วนที่บกพร่อง ทั้งหมดนั้น 9 เดือนพอดี ตามอายุการทำงานของกรรมการ และปล่อยให้คณะกรรมการทำงานโดยอิสระ รัฐบาลจะไม่แทรกแซงก้าวก่าย
นายวิษณุ กล่าวว่า ก่อนเริ่มการประชุม นายกรัฐมนตรีได้ให้กรรมการจำนวน 5 คนขึ้นแสดงความคิดเห็น คือ พล.อ.บุญสร้าง นายสมคิด นายเข็มชัย นายมานิจ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ได้แสดงทัศนะซึ่งนายกฯเห็นพ้องกับข้อเสนอเหล่านี้และฝากให้ไปหาคำตอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั้งประเทศรอ นายกฯเชื่อมั่นและฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการ สิ่งใดทำเสร็จก่อนนายกฯก็ขอให้เอาออกมาก่อน ถ้าหากจำเป็นจะต้องให้นายกฯใช้มาตรา 44 แก้ไขก่อนนายกฯก็ยินดี ถ้าจะต้องแก้กฎหมายบางประเด็นก็แก้ไป อะไรที่ใช้มาตรการบริหารได้โดยไม่ต้องแก้กฎหมาย เช่น คำสั่งนายกรัฐมนตรี กฎก.ตร. ก็ให้ใช้ไปก่อนได้ ซึ่งคณะกรรมการได้รับทราบแล้ว
ที่มา : มติชนออนไลน์