“ไทยยูเนี่ยน” ให้พันธสัญญาเพื่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

“บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” ให้คำมั่นต่อการดำเนินการเพื่อจัดการกับการทำประมงผิดกฎหมาย และการทำประมงที่มากเกินไป รวมทั้งมุ่งยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานหลายแสนคนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานของบริษัท

พันธกิจใหม่ของไทยยูเนี่ยนจะอยู่บนรากฐานของ SeaChange® หรือกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งครอบคลุมความพยายามในการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีในการทำประมง การพัฒนาวิธีการทำประมงอื่นๆ รวมทั้งลดการปฏิบัติที่ผิดกฎหมายและไร้จริยธรรมในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และการใช้ปลาทูน่าที่มาจากการประมงอย่างมีความรับผิดชอบให้มากขึ้นในตลาดหลัก

การประกาศวันนี้สืบเนื่องจากการรณรงค์ของกรีนพีซทั่วโลก

“บันนี แมคดิอาร์มิด” ผู้อำนวยการบริหารของกรีนพีซสากล กล่าวว่า นับเป็นการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญต่อท้องทะเลและสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลของเรา อีกทั้งมีความสำคัญต่อสิทธิของผู้คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล และถ้าไทยยูเนี่ยนดำเนินการตามการปฏิรูปนี้ ย่อมจะสร้างแรงกดดันให้ผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมปฏิบัติตามในระดับเดียวกัน และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นอย่างมาก ซึ่งวันนี้ถึงเวลาแล้วที่บริษัทอื่นๆ จะยกระดับและแสดงถึงความเป็นผู้นำเช่นเดียวกัน

ไทยยูเนี่ยนเห็นด้วยกับการดำเนินการปฏิรูปนี้ ซึ่งมีพันธกิจดังต่อไปนี้

– การลดจำนวนของเครื่องมือการทำประมงประเภทซั้ง หรือ FADs ที่ใช้ในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกของบริษัท โดยตั้งเป้าลดให้ได้โดยเฉลี่ย 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2563 ในขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มจำนวนปลาที่ได้รับการรับรองการทำประมงโดยปราศจากเครื่องมือประเภท FADs ในตลาดต่างๆ ทั่วโลกในช่วงเวลาเดียวกัน FADs เป็นอุปกรณ์ลอยน้ำที่จำลองระบบนิเวศขนาดย่อมและอาจนำไปสู่การจับสัตว์น้ำอื่นๆ ติดมาด้วย เช่น ปลาฉลาม เต่า และปลาทูน่าที่ยังไม่โต

– การยืดระยะเวลา การระงับการขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเลทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั่วโลกของบริษัทที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน หากว่าซัพพลายเออร์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่ที่เข้มงวดได้ การขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเลทำให้เรือสามารถดำเนินการประมงติดต่อกันได้เป็นระยะเวลาหลายเดือนหรือหลายปีในการออกทะเลหนึ่งครั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย

– การมีผู้สังเกตการณ์อิสระติดตามบนเรือประมงเบ็ดราวที่มีการขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเลทุกลำ เพื่อตรวจสอบและรายงานหากมีการกดขี่แรงงาน และต้องแน่ใจว่ามีผู้สังเกตการณ์หรือเครื่องมือติดตามบนเรือเบ็ดราวในการประมงปลาทูน่าทั้งหมดว่ามีการจับจากแหล่งใด

– การพัฒนาแนวปฏิบัติด้านแรงงานที่ครอบคลุมให้กับเรือทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท เพื่อทำให้จรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงานที่มีอยู่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานในทะเลได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมและยุติธรรม รวมทั้งมีการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบอิสระจากภายนอก โดยมีการเปิดเผยผลการดำเนินงานและกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนเพื่อให้มั่นใจว่ามีการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ทั้งหมด

– การลดสัดส่วนการทำประมงปลาทูน่าด้วยวิธีเบ็ดราว โดยเปลี่ยนมาใช้วิธีเบ็ดตวัด หรือวิธีเบ็ดลากภายในปี 2560 และมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเข้มงวดเพื่อลดการจับสัตว์น้ำพลอยได้ การทำประมงด้วยวิธีเบ็ดราวก่อให้เกิดความเสี่ยงในการได้สัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป้าหมายของการจับติดมาด้วย อาทิเช่น นกทะเล เต่า และปลาฉลาม

– การใช้ระบบติดตามแบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของปลาทูน่าและแสดงถึงวิธีการประมงที่ใช้

“ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนยินดีรับบทบาทการเป็นผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไทยยูเนี่ยนจะมุ่งไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องในการดำเนินการตามกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน หรือ SeaChange® อย่างเข้มแข็งและทำให้ดีขึ้นจากการตกลงร่วมกันกับกรีนพีซ และมีวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลทั้งในปัจจุบันและสำหรับคนรุ่นหลังในอนาคต

กรีนพีซและไทยยูเนี่ยน เห็นชอบร่วมกันที่จะมีการหารือกันทุกๆ 6 เดือนเพื่อประเมินความคืบหน้าและการดำเนินงานของบริษัท และในปลายปี 2561 หน่วยงานอิสระจากภายนอกจะเข้ามาตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินการตามพันธสัญญาที่ให้ไว้

“บันนี แมคดิอาร์มิด” กล่าวอีกว่า ไทยยูเนี่ยนได้ตั้งมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเลในการแก้ปัญหาการทำประมงแบบทำลายล้าง การกดขี่แรงงาน และการดำเนินธุรกิจอย่างไร้จริยธรรม วันนี้นับเป็นวันที่ดีสำหรับคนนับแสนคนทั่วโลกที่ต้องการให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลมีการดำเนินการอย่างจริงจังในการขจัดปัญหาเหล่านี้ต่อไป

 

ภาพฝูงปลาทูน่ากำลังว่ายอยู่ในมหาสมุทร (เครดิตภาพ: Shutterstock / Ugo Montaldo)