“ออสเตรเลีย” เบียด “กาตาร์” จ่อขึ้นแท่นผู้ส่งออก LNG เบอร์ 1 โลก

ในขณะที่โลกพยายามลดการใช้พลังงานจากน้ำมันและถ่านหิน “ก๊าซธรรมชาติเหลว” (LNG) ถือว่าเป็นหนึ่งในพลังงานที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นทั่วโลก และมีคาดการณ์จากอีไอเอว่า “ออสเตรเลีย” มีโอกาสที่จะผงาดขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว รายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างถาวร แทนที่ “กาตาร์” ในปี 2020

ซีเอ็นบีซีรายงานอ้างคำแถลงของรัฐบาลออสเตรเลียระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ออสเตรเลียมีการส่งออกก๊าซ LNG เฉลี่ยประมาณ 11,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เทียบกับปี 2011 ส่งออกอยู่ที่ 2,600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยปริมาณการส่งออกก๊าซ LNG ของออสเตรเลีย แซงหน้า “กาตาร์” ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกเบอร์หนึ่งของโลกแล้ว

โดยปริมาณส่งออกก๊าซ LNG ของกาตาร์ ตามมาเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 10,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับ 3 ด้วยปริมาณส่งออกที่ 8,900 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

คำแถลงของรัฐบาลแคนเบอร์ราระบุด้วยว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ออสเตรเลียจะสามารถรักษาตำแหน่งผู้ผลิตและส่งออกเบอร์ใหญ่ของโลกได้อย่างถาวร โดยรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มกำลังการผลิต LNG สำหรับการพัฒนาโครงการระหว่างปี 2019-2023 และตั้งเป้าขยายโครงการการผลิต LNG เป็น 10 แห่งภายในปี 2020 จากปัจจุบันมี 8 แห่ง

ทั้งนี้ เมื่อเดือน มิ.ย.ออสเตรเลียได้เปิดตัว “พรีลูด” (Prelude) โครงการ LNG ลอยน้ำแห่งที่ 8 ของบริษัท รอยัลดัตช์เชลล์ ในแหล่งก๊าซธรรมชาติทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบรูม ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย

ซีเอ็นบีซีระบุว่า โครงการพรีลูดถือว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการ LNG ขนาดใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย โดยมีปริมาณการรองรับถังเก็บ LNG เทียบเท่ากับขนาดสระว่ายน้ำมาตรฐานที่ใช้ในการแข่งโอลิมปิกถึง 175 สระ ขณะที่โครงการ LNG แห่งอื่น เช่น วีตสโตน (Wheatstone), อิชทิส (Ichthys) และดาร์วิน (Darwin) ก็เตรียมเพิ่มกำลังการผลิต LNG ตั้งแต่เดือน ก.ย.นี้

นักวิเคราะห์ของสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐ (EIA) กล่าวว่า “กาตาร์” อาจสูญเสียตำแหน่งผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว LNG รายใหญ่ที่สุดของโลกให้กับออสเตรเลียในปี 2020 และอาจจะสูญเสียตำแหน่งนี้อย่างถาวร ดูจากแผนพัฒนาของทางการแคนเบอร์รา ทั้งยังมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตแตะระดับที่ 110 ล้านตัน/ปี ภายในปี 2024 เพิ่มจาก 77 ล้านตัน/ปี ในปี 2018

“นิโคลัส บราวน์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยก๊าซและ LNG ของ Wood Mackenzie บริษัทให้คำปรึกษาและวิจัยด้านพลังงานในกรุงลอนดอน กล่าวว่า การเพิ่มกำลังการผลิตและความต้องการที่ผันผวนจากลูกค้า โดยเฉพาะในญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ส่งผลให้ราคาซื้อขายก๊าซลดลงอย่างหนักตั้งแต่ปลายปี 2018

ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว และสงครามการค้าจะกดดันให้ราคาก๊าซ LNG มีความผันผวนมากขึ้น ทั้งประเมินว่าในปีนี้จะเผชิญกับสถานการณ์ราคา LNG ที่ต่ำลงเรื่อย ๆ และราคาอาจจะปรับลดลงอีกในปีหน้า เนื่องจากซัพพลายที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ

“ซัพพลายที่เพิ่มเข้ามา ไม่ได้มีแต่ออสเตรเลีย แต่สหรัฐก็มีเป้าหมายจะเพิ่มการผลิตเช่นกัน โดยจะเพิ่มการผลิตก๊าซจากโครงการคาเมรอน ซึ่งอยู่ในเกาะเอลบา รวมถึงในโครงการฟรีพอร์ตในเทกซัส” บราวน์กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับ “กาตาร์” โดยกระทรวงพลังงานประกาศเมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลได้อนุมัติให้เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซ LNG อีก 43% ภายในปี 2024 เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับประเทศผู้ส่งออกรายอื่น จากปี 2018 ที่กำลังการผลิตก๊าซ LNG ของกาตาร์ อยู่ที่เกือบ 80 ล้านตัน/ปี

อย่างไรก็ตาม “ซาอัด เชอริดา อัล-คาบี” ประธานและซีอีโอของกาตาร์ปิโตรเลียม กล่าวยอมรับว่า ความขัดแย้งระหว่างกาตาร์กับซาอุดีอาระเบีย รวมถึงชาติอาหรับอื่น ๆ ได้แก่ อียิปต์ บาห์เรน เยเมน ลิเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังยืดเยื้อและอาจเป็นอุปสรรคต่อเส้นทางการส่งออก LNG ของกาตาร์ให้ได้ตามเป้าหมาย รวมถึงทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ ประธานกาตาร์ปิโตรเลียมกล่าวว่า ในเวลานี้ดีมานด์ในประเทศเอเชียถือว่าแข็งแกร่งที่สุด “จีน” ยังคงเป็นประเทศนำเข้ารายใหญ่ที่สุด และยังมีประเทศอื่นที่น่าสนใจ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และเวียดนาม

ขณะที่บลูมเบิร์กรายงานอ้างวิจัยของ “แมคคินซีย์” บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลกระบุว่า ความต้องการใช้ก๊าซ LNG ของโลก จะแตะ 384 ล้านตันในปี 2020 จากปี 2018 ปริมาณการใช้ทั่วโลกอยู่ที่ 319 ล้านตัน และประเมินว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะเกิดความสมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลาย ซึ่งคาดว่าการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจะส่งผลให้ดีมานด์การใช้ในทั่วโลกเพิ่มขึ้นตามจากราคาก๊าซที่ถูกลง