ผู้ติดเชื้อ “โควิด” รายใหม่เพิ่ม 15 ราย ป่วยสะสม 2,854 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

ศบค.แถลงพบผู้ติดเชื้อ “โควิด” รายใหม่ 15 ราย สะสม 2,854 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 24 เมษายน 2563 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ภายในห้องโถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15 ราย รวมมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 2,854 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต รวมมีผู้เสียชีวิตสะสมเท่าเดิมคือ 50 ราย หายป่วยแล้ว 2,490 ราย

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 15 ราย มาจากการเฝ้าระวังระบบบริการ 11 ราย ในจำนวนนี้ 9 ราย สัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า กทม. 4 ภูเก็ต 4 สงขลา 1 โดยพบว่า มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากสถานที่ท่องเที่ยว ตลาดนัด โดยพบว่าไปตลาดปทุมธานี คลอง 1 และไปตลาดบางปะอิน การเดินทางไปหลายๆ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงได้ นอกจากนี้ ยังพบการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ที่ จ.ยะลา ทำให้พบผู้ป่วย 4 คน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในส่วนของผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 เพิ่มใหม่ 15 ราย นับเป็นรายที่ 2,840 – 2,854 ราย โดยทั้งหมดพบใน 68 จังหวัด กระจายในกรุงเทพมหานคร และ จ.นนทบุรี จำนวน 1,613 ราย ภาคกลาง 365 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 108 ราย ภาคใต้ 604 ราย โดยผู้ป่วยอายุน้อยสุด 1 เดือน อายุมากสุด 97 ปี โดยเฉลี่ยคืออายุ 39 ปี พบผู้ป่วยมากในอายุ 20-29 ปี

ผู้สื่อข่าวสอบถาม เรื่องการผ่อนคลาย ที่มีบางจังหวัดเริ่มมีประกาศให้สถานที่ที่ หรือสถานประกอบการบางประเภท กลับมาเปิดได้ ตอนนี้การคลายล้อกมีแนวดน้มอย่างไร ทุกจังหวัดสามารถประกาศได้เองเลยหรือไม่ หรือต้องขอศบค.ก่อนหรือไม่

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องเข้าที่ประชุม ศูนย์ศบค.ที่มีท่านนายกฯเป็นประธาน แล้วนำเข้าครม. เรื่องนี้ก็เป้นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องของการออกกฎใหญ่ของทั้งประเทศ แต่เรื่องของการผ่อนคลายที่จะต้องเกิดขึ้นจะเป็นเรื่องของทางจังหวัดถึงจะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องพูดคุยกัน ศบค.จะไปรับในทุกเรื่องก็คงจะไม่ได้ ตอนนี้มีการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ของการแพร่ระบาด คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจเอกชน โดยมีเลขาสภาพัฒน์ เป็นประธาน และมีภาคธุรกิจเข้าร่วมจำนวนมาก เพราะตอนนนี้การควบคุมโรคไปควบคุมเรื่องชุดพฤติกรรมาของประชาชน เมื่อคุมคนก็ทำให้ระบบต่างๆได้รับผลกระทบตามมา รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ

เพราะฉนั้นถ้าจะต้องผ่อนปรนก็จะต้องประชุมปรึกษากัน ทีมนี้กำลังทำงานกันอยู่ และจะต้องเสนอชุดข้อมูลต่อผอ.ศูนย์ศบค. และคณะกรรมการของศบค. แล้วคณะกรรมการศบค.ก็ต้องตัดสินใจแล้วนำเสนอต่อครม. จากนั้นก็จะต้องมาดูเป็นกิจจกรรมต่างๆที่จะทำได้ หรือไม่ได้ ก็จะต้องค่อยๆออกมา เรื่องนี้นำเรียนว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้ถูกคิด ถูกกรอง เรียกว่าศึกษากันอย่างรอบด้าน เมื่อออกมามาแล้ว คนส่วนใหญ่ต้องเห็นด้วย และไม่กระทบต่อการแพร่ระบาดของโรก

“เรามีเงินไม่พอ และยังต้องกู้กันมา แล้วจะเกิดคลื่นภูเขาลูกที่สอง ลูกที่สามตามาไม่ได้อีกแล้ว เพราะมันจะเกิดควาเสียหายตามมา และจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต และที่สุดแล้วคือเสียเรื่องงบประมาณ” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว

Live:ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ ประจำวันที่ 24 เมษายน 2563 จากศูนย์ทำเนียบรัฐบาล

โพสต์โดย Matichon Weekly – มติชนสุดสัปดาห์ เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2020