353 อาจารย์-นักวิชาการ ร่วมลงชื่อปกป้องเสรีภาพของนักศึกษา

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส.

อาจารย์ และ นักวิชาการ 353 คน ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ ของ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ย้ำจุดยืนว่า มหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่สำหรับการตั้งคำถามและแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติของสังคม

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่อง มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่สำหรับการตั้งคำถามและแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติของสังคม โดยมีอาจารย์และนักวิชาการ 353 คน ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าว

แถลงการณ์ดังกล่าวถึงความสำคัญและบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่ง คนส. ระบุว่าหมายถึงความสามารถในการคิด ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์อย่างอิสระ “เพราะสังคมจะไม่สามารถเผชิญวิกฤติ ความเปลี่ยนแปลง หรือความท้าทายใหม่ๆ ได้ หากสมาชิกปราศจากคุณสมบัติเหล่านี้ จะมีก็แต่ผู้ที่ต้องการแช่แข็งสังคมหรือฝืนการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่ไม่ต้องการให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทหน้าที่เช่นนี้”

คนส. กล่าวว่า สังคมไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงมีบทบาทสำคัญ ทั้งในการบ่มเพาะสมาชิกของสังคมและการเป็นพื้นที่ให้สมาชิกกลุ่มอื่นในสังคมได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนข้อเท็จจริง ด้วยเหตุด้วยผล “โดยมีประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สังคมไทยมีความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์เช่นนี้ ไม่มีสถานที่ใดเหมาะสมไปกว่ามหาวิทยาลัยสำหรับการให้สมาชิกในสังคมได้ตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบร่วมกันอย่างสันติ”

แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุว่า ข้อเรียกร้องของการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการหยุดคุกคามประชาชน การยุบสภา หรือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการตั้งคำถามและพยายามพาสังคมไทยไปให้พ้นจากวิกฤตทางการเมืองที่สั่งสมมากว่าทศวรรษ เช่นเดียวกับข้อเสนอ 10 ข้อของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่นับเป็นการตั้งคำถามและพยายามหาทางออกให้กับความขัดแย้งในสังคมและการเมืองไทยอย่างสันติเช่นเดียวกัน

คนส. และผู้ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าว ได้เสนอข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยและภาคส่วนต่างๆ ของสังคมและรัฐ 3 ข้อ ได้แก่

1. ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ต้องอนุญาตให้นิสิตนักศึกษารวมถึงประชาชนได้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมทางการเมืองโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ไม่หวาดกลัวต่ออำนาจอธรรม ความไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด รวมทั้งต้องไม่ถือว่าการจัดกิจกรรมทางการเมืองดังกล่าวเป็นความผิด เพราะการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมในการตั้งคำถามและเสนอทางออกให้กับสังคมนอกจากจะเป็นบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ยังเป็นการป้องกันนิสิตนักศึกษาจากความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้หากผลักไสให้พวกเขาไปจัดกิจกรรมด้านนอก

2. ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมพึงพิจารณาข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาอย่างมีสติ ด้วยเหตุด้วยผล ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร โดยมีประโยชน์ของสังคมเป็นตัวตั้ง พร้อมกับแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ มิใช่ปฏิเสธที่จะรับฟังด้วยอคติ ใส่ร้ายป้ายสีหรือยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังและนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน หรือสร้างเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับนิสิตนักศึกษาและประชาชน

3. รัฐต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพ ในการแสดงความเห็นโดยสันติของประชาชนที่ได้รับการรับรองทั้งในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ ต้องไม่ขัดขวางการจัดกิจกรรมทางการเมืองในสถานศึกษา ต้องบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติรัฐนิติธรรม ไม่ตั้งข้อหาหรือดำเนินคดีกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนที่มาชุมนุมอย่างสันติและแสดงความเห็นโดยสุจริต รวมถึงต้องอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ร่วมชุมนุม และป้องกันไม่ให้มีการประทุษร้ายนิสิตนักศึกษาเพียงเพราะพวกเขาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในครรลองระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในแกนนำจัดกิจกรรม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ได้โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลแสดงความกังวลถึงความปลอดภัยของตน ขณะที่ภาคประชาสังคม และบุคคลมีชื่อเสียง รวมถึง ดารา-นักแสดง ได้เขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ แสดงจุดยืนต่อต้านการคุกคามนักศึกษา ตามรายงานของข่าวสด

แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)…


โพสต์โดย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง – คนส. เมื่อ วันพุธที่ 12 สิงหาคม 2020