ศิริราชถอดบทเรียนโควิด “เมียนมา” จุดเปลี่ยน-จุดเสี่ยงระบาดรอบใหม่ในไทย

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ คณบดีแพทยศาสตร์ศิริราชฯ เผยสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ประเทศร่ำรวยแห่จองคิวซื้อวัคซีนล็อตแรก ๆ ส่วนสถานการณ์ในไทยน่าห่วง หลังคนหนีไวรัสจากเมียนมา ลักลอบเข้าไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ เผยโควิดสายพันธุ์ G614 แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อู่ฮั่น ย้ำคนไทยอย่าการ์ดตก

ผู้สื่อข่าว ‘ประชาชาติธุรกิจ’ รายงานว่า วันนี้ (8 ธ.ค. 2563) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แถลงถึงสถานการณ์ล่าสุดของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก และภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัส รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 หลังเหตุการณ์ลักลอบข้ามพรมแดน

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา

โควิดทั่วโลกอยู่ในช่วง “ขาขึ้น”

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยทุก 2-3 วันมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน และอาจจะถึงวันละ 1 ล้านคนในอนาคต ส่วนอัตราการเสียชีวิตของแต่ละประเทศดูเหมือนกับว่าลดลง ในความจริงแล้วตัวเลขรวมทั้งโลกไม่ได้ลดลง เพราะอัตราการเสียชีวิตกระจายออกไปหลายประเทศมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเมียนมา มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นราว 1,200 – 1,700 คนทุกวัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อเมื่อวาน (7 ธ.ค.) เพิ่มไปถึง 99,155 คน ส่วนอัตราการเสียชีวิตน่าเป็นห่วง เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อมีมากเกินศักยภาพของระบบประกันสุขภาพของประเทศเมียนมา

ท่าขี้เหล็ก-เมียนมา “จุดเปลี่ยน” สถานการณ์โควิดไทย

“ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในไทยที่ผ่านมา เคสผู้ติดเชื้อเกือบ 100% เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แล้วได้เข้าสู่กระบวนการกักตัว จึงไม่น่ากังวล แต่ว่าตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป เพราะมีเหตุการณ์ที่คนหนีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา

โดยการลักลอบเข้าประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ เข้ามาฝั่งชายแดนไทย จ.เชียงราย จนเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในไทย และเริ่มเห็นว่ามีเคสผู้ติดเชื้อในไทยที่ไม่ใช่ผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศ โดยตอนนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสิ้นราว 4 พันราย โดยเพิ่มเป็นตัวเลข 2 หลักมาตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. แต่ยังไม่มีอัตตราการเสียชีวิตในช่วงที่ผ่านมา”

ไทม์ไลน์โควิดระบาดเมียนมา

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศเมียนมา พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรก 2 ราย เมื่อ 23 มี.ค. 2563 จากนั้น 16 ส.ค. เริ่มมีเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เมืองเมืองสิตตะเว ในรัฐยะไข่ ที่อยู่ทางตะวันตกของประเทศเมียนมา ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศไทยที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก และหลังจากนั้นไม่นาน เชื้อไวรัสมีการกระจายไปที่กรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงของประเทศ แล้วก็เกิดการกระจายไปแทบทุกเมือง โดยล่าสุดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ที่เมียนมา แสนกว่าคนแล้ว

สาเหตุการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมียนมาร์หลัก ๆ เกิดจากการเคลื่อนย้ายของประชาชนโดยไม่มีการควบคุมที่ดี โดยตัวเลขเมื่อ 10-20 ส.ค. มีคนเดินทางจากเมืองสิตตะเว เข้ากรุงย่างกุ้งประมาณ 5,000 คน แต่ติดตามสืบสวนได้น้อยกว่า 50% เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็วทำให้ยากต่อการติดตามสืบสวน และประมาณ 60% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเมียนมาเป็นเชื้อสายพันธุ์ G614 ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับเชื้อที่เกิดในอู่ฮั่น ประเทศจีน ที่เรียกว่า D614

โควิดสายพันธุ์ G614 แพร่ระบาดได้เร็วกว่า

โดยสายพันธุ์ G614 เป็นสายพันธุ์ที่เริ่มระบาดในประเทศทางฝั่งตะวันตกของโลก และตอนนี้กลายไปสายพันธุ์ที่แพร่กระจายมากที่สุดทั่วโลก ซึ่งมีหลักฐานว่า G614 แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม (D614) ส่งผลให้การควบคุมและการติดตามสืบสวนผู้ติดเชื้อต้องดำเนินการให้เร็วกว่าการแพร่ระบาดในรอบแรก เพราะหากทำได้ช้าจะเป็นเหมือนเมียนมา ที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 200 เท่าในช่วง 3 เดือนเท่านั้น โดยเมื่อ 17 ส.ค. มีจำนวนผู้ป่วยเพียง 409 คน แต่พอ 6 ธ.ค. มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19ในเมียนมา พุ่งสูงถึง 99,155 คน

“ดังนั้น หากคนที่ไปประเทศเมียนมา ในเวลานี้แล้วกลับเข้ามาไทยโดยไม่เปิดเผยข้อมูล จะทำให้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่นำเชื้อไปให้บุคคลในครอบครัวและในสังคมไทย และหากเรามีตัวเลขผู้ติดเชื้อเหมือนกับในประเทศเมียนมา ก็คงจะยากต่อการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ”

วัคซีนทั่วโลกอย่างเร็วกลางปี 2564

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ อธิบายว่า ประมาณ 90% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น และระดับภูมิคุ้มกันอาจสูงพอที่จะยับยั้งเชื้อได้ 8 วัน หลังการติดเชื้อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ถ้าความรุนแรงน้อย ระดับภูมิคุ้มกันก็จะน้อย ซึ่งภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะอยู่ได้นาน 40 วัน – 7 เดือน

“ตอนนี้มีหลายบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่ผ่านการศึกษาทดลองกับสัตว์แล้วประสบความสำเร็จไปใช้ในคน ส่วนวัคซีนที่ผ่านการศึกษาในคนประสบความสำเร็จเพียง 20% และวัคซีนที่จะพร้อมใช้ให้คนทั่วโลกไม่น่าจะเร็วไปกว่ากลางปี 2564”

หลายประเทศแย่งซื้อวัคซีนโควิด ล็อตแรก “อาจไม่ถึงไทย”

ประเทศยักษ์ใหญ่แห่แย่งซื้อวัคซีน

นอกจากนี้ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ได้เล่าถึงข้อมูลการพัฒนาวัคซีนว่า “โมเดอร์นา” (Moderna) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทแรกที่เริ่มทดลองวัคซีนโควิด-19 โดยประสิทธิภาพวัคซีนของ Moderna สร้างภูมิคุ้มกันได้ 94.1% แต่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานเพียงใด แต่น่าจะไม่น้อยกว่า 3 เดือน

ขณะที่การพัฒนาวัคซีนตัวนี้ในระยะ 3 ยังไม่เสร็จดี รัฐบาลสหรัฐฯก็ได้สั่งจองวัคซีนตัวนี้ไปแล้ว 100 ล้านโดสเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ส่วนทางสหภาพยุโรปทำเรื่องการจองวัคซีนนี้ 160 โดสเมื่อปลายเดือน พ.ย. และตอนนี้แคนาดา ญี่ปุ่น และการ์ตาร์ก็กำลังเข้าคิวจองซื้อวัคซีนตัวนี้เช่นกัน

และเมื่อ 30 พ.ย ที่ผ่านมา “โมเดอร์นา” ได้ยื่นขอทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration – FDA) ในการใช้วัคซีนนี้แบบฉุกเฉินกับบางประเทศ ถ้ารัฐบาลอนุมัติจะเริ่มฉีดเข็มแรก 21 ธ.ค. นี้

นอกจากวัคซีนของ “โมเดอร์นา” ยังมีวัคซีนของบริษัท “ไฟเซอร์” จากสหรัฐอเมริกา ที่ทำสัญญาผลิตร่วมกับบริษัทไบโอเอ็นเทคจากเยอรมนี ที่ได้รับความสนใจในอันดับต้น ๆ โดยประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้สร้างภูมิคุ้มกันได้ 95% แต่มีข้อเสียตรงที่ต้องเก็บไว้ในที่อุณหภูมิลบ 70 องศาเซลเซียสตลอดเวลา

อย่างไรก็ตามวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคก็ได้รับความนิยมไม่แพ้ของโมเดอร์นา โดยเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. รัฐบาลอังกฤษได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนตัวนี้แบบฉุกเฉินในประเทศแล้ว ขณะที่สหรัฐฯสั่งซื้อ 100 ล้านโดสไปเมื่อต้นเดือน ธ.ค. และกำลังเจรจาซื้อเพิ่มไปจนถึง 500 ล้านโดส ส่วนญี่ปุ่นสั่งซื้อแล้ว 120 ล้านโดส และสหภาพยุโรปสั่งซื้อ 200 ล้านโดส

คนไทยการ์ดอย่าตก-รอวัคซีน

“ทำให้เป็นที่น่ากังวลว่า วัคซีนล็อตต้น ๆ จะยังไปไม่ถึงประเทศอื่น ๆ ที่มีความยากจนกว่า ดังนั้น คนไทยอย่าการ์ดตก และขอให้คนที่มาจากประเทศเมียนมา เข้าไทยอย่างถูกต้อง เพราะถ้าตรวจพบเชื้อ รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลอยู่แล้ว” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ส่วนผู้ที่เสี่ยงกับการติดเชื้อไวรัส ขอให้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ครอบครัว และสังคม และก่อนรู้ผลตรวจก็ต้องป้องกันเชื้อด้วยการใส่หน้ากากทั้งนอกอาคารและในอาคาร รักษาระยะห่างกับผู้อื่น ล้างมือบ่อย ๆ และบันทึกสถานที่ไปผ่านแอพพลิเคชันไทยชนะ หรือให้ข้อมูลกับทาง อสม. สำหรับผู้ประกอบการ ก็ให้กำหนดการป้องกันอย่างเคร่งครัด