หลายประเทศแย่งซื้อวัคซีนโควิด ล็อตแรก “อาจไม่ถึงไทย”

ที่มาภาพ REUTERS/Dado Ruvic

“ประชาชาติธุกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของหลายบริษัททั่วโลก โดยมีหลายประเทศแห่จองก่อนการทดลองสำเร็จ และสำหรับวัคซีนของ AstraZeneca ที่รัฐบาลไทยทำสัญญาจอง ล็อตแรกอาจไม่เหลือถึงไทย

ติดโควิดได้มากกว่า 1 ครั้ง

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (8 ธ.ค. 2563) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แถลงถึงข้อมูลล่าสุดของการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก

โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า 90% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะอยู่ได้นาน 40 วัน – 7 เดือน และระดับภูมิคุ้มกันอาจสูงพอที่จะยับยั้งเชื้อได้ 8 วันหลังการติดเชื้อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ถ้าความรุนแรงน้อย ระดับภูมิคุ้มกันก็จะน้อย

“มีการรายงานการศึกษาวิจัยของมหาวิทยลัยคิงส์ คอลเลจ ประเทศอังกฤษเมื่อ 3 เดือนที่แล้วว่า ด้วยความที่ภูมิคุ้มกันโควิด-19 อยู่ได้ไม่อยู่นาน จึงมีโอกาสติดเชื้อซ้ำเกิดขึ้นได้ ทำให้การพัฒนาวัคซีนยากขึ้น และส่งผลให้การออกแบบวัคซีนส่วนใหญ่ต้องฉีดมากกว่า 1 โดส (1 เข็ม)”

การพัฒนาวัคซีนโดยทั่วไปจะทดลองกับสัตว์ทดลองก่อน แล้วถึงนำไปทดลองในคน โดยมีเพียง 7% ของวัคซีนที่ผ่านทดลองกับสัตว์แล้ว จะประสบความสำเร็จเมื่อไปทดลองในคน

ยังไม่มีบริษัทไหนผลิตวัคซีนสำเร็จ

“ตอนนี้มีประมาณ 86 บริษัทที่กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาในสัตว์ทดลอง (Preclinical phase – PCP), มีบริษัทที่เข้าสู่การทดลองในคน (Clinical phase – CP) ทั้ง 3 ระยะ (CP1-CP3) รวมกันประมาณ 71 บริษัท, และมีบริษัทที่สามารถนำวัคซีนที่ยังไม่ผ่านการทดลองในคนระยะที่ 3 ไปใช้ได้ในกรณีจำเป็น (Limited) ในบางประเทศทั้งหมด 7 บริษัท แต่ยังไม่มีบริษัทไหนสามารถผลิตวัคซีนที่ผ่านขั้นตอนการรับรอง (Approve)” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ตัวอย่างบริษัทที่ผ่านเข้าสู่ขั้นตอน CP3 ได้แก่ โมเดอร์นา (Moderna), ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech), และกามาเลยา (Gamaleya) เป็นต้น

หลายประเทศแห่จองวัคซีนก่อนทดลองเสร็จ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า “โมเดอร์นา” เป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา และเป็นบริษัทแรกที่เริ่มทดลองวัคซีนโควิด-19 โดยประสิทธิภาพวัคซีนตัวนี้สร้างภูมิคุ้มกันได้ 94.1% แต่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานเพียงใด โดยมีการคาดการณ์ว่าน่าจะไม่น้อยกว่า 3 เดือน

“ขณะที่การพัฒนาวัคซีนตัวนี้ในระยะ CP3 ยังไม่เสร็จดี รัฐบาลสหรัฐฯก็ได้สั่งจองวัคซีนของโมเดอร์นาไปแล้ว 100 ล้านโดสเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ส่วนทางสหภาพยุโรปทำเรื่องการจองวัคซีนนี้ 160 โดสเมื่อปลายเดือน พ.ย. และตอนนี้แคนาดา ญี่ปุ่น และการ์ตาร์ก็กำลังเข้าคิวจองซื้อวัคซีนตัวนี้เช่นกัน”

โดยเมื่อ 30 พ.ย ที่ผ่านมา “โมเดอร์นา” ได้ยื่นขอทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration – FDA) ในการใช้วัคซีนนี้แบบฉุกเฉินกับบางประเทศ ถ้ารัฐบาลอนุมัติจะเริ่มฉีดเข็มแรก 21 ธ.ค. นี้

ส่วนวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ “ไฟเซอร์” จากสหรัฐอเมริกา ที่ทำร่วมกับ “ไบโอเอ็นเทค” จากเยอรมนี ก็ได้รับความสนใจจากประเทศยักษ์ใหญ่แห่กันจับจองและทำสัญญาซื้อเป็นอันดับต้น ๆ โดยประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้สร้างภูมิคุ้มกันได้ 95% แต่มีข้อเสียตรงที่ต้องเก็บไว้ในที่อุณหภูมิลบ 70 องศาเซลเซียสจนถึงเวลาที่จะฉีด ซึ่งเท่ากับอุณหภูมิหน้าหนาวของขั้วโลกใต้ โดยบริษัทได้แก้ปัญหาแล้วด้วยการผลิตรถขนส่งที่มีตู้เย็น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. รัฐบาลอังกฤษได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนตัวนี้แบบฉุกเฉินในประเทศ ขณะที่สหรัฐฯก็สั่งซื้อ 100 ล้านโดสไปเมื่อต้นเดือน ธ.ค. และกำลังเจรจาซื้อเพิ่มจนถึง 500 ล้านโดส ส่วนญี่ปุ่นสั่งซื้อแล้ว 120 ล้านโดส และสหภาพยุโรปสั่งซื้อ 200 ล้านโดส

สำหรับวัคซีนโควิด-19 ของสถาบันวิจัยกามาเลยาที่เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขรัสเซีย ได้ประกาศประสิทธิภาพว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้ 92% ไปเมื่อ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยตอนนี้มีประเทศในแถบทวีปอเมริกาใต้ทำสัญญาจองวัคซีนแล้วหลายประเทศ ได้แก่ อาเจนตินา บราซิล เม็กซิโก และเวเนซิเอลา

ศิริราช ถอดบทเรียนโควิด ‘เมียนมา’ จุดเปลี่ยน-จุดเสี่ยง ระบาดรอบใหม่ในไทย

ไทยทำสัญญาจองวัคซีนของ AstraZeneca

ภายใต้ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลถึง “ความเหลื่อมล้ำ” ที่อาจทำให้คนจำนวนมากในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศยากจนเข้าไม่ถึงวัคซีน

ตอนนี้มีบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ที่ทำการทดลองวัคซีนโควิด-19 ไปถึงขั้นตอน CP3 ได้ประกาศช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับวัคซีน โดนจะขายวัคซีนโควิด-19 ในราคาทุนให้กับประเทศด้อยพัฒนา

ซึ่งรัฐบาลไทยได้ทำสัญญาจองซื้อวัคซีนโควิด-19 ล่วงหน้ากับแอสตราเซเนกาด้วยเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ในวงเงิน 6,049,723,117 บาท ภายใต้เงื่อนไขว่ามีโอกาสที่จะได้หรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนา โดยคาดว่าจะจัดหาวัคซีน 26 ล้านโดสให้คนไทยกลุ่มเสี่ยง 13 ล้านคนได้ภายในกลางปี 2564

วัคซีนของแอสตราเซเนกาก็ได้รับความสนใจจากประเทศอังกฤษด้วย โดยรัฐบาลอังกฤษได้สั่งจองวัคซีนชนิดนี้แล้วจำนวน 100 ล้านโดส และหากผ่านการทดลองในขั้นตอนรับรองแล้ว อังกฤษจะกลายเป็นชาติแรก ๆ ที่แอสตราเซเนกาจะจัดส่งวัคซีนให้ โดยจะส่ง 4 ล้านโดสแรกให้ภายในสิ้นปี 2563 และอีก 40 ล้านโดส ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งได้รับล็อตแรกเร็วกว่าประเทศไทยหลายเดือน