ปรากฏการณ์ ‘คลับเฮาส์’ ฮิตข้ามคืน มุมมองนัก กม.-การตลาดดิจิทัล

กลายเป็นโซเชียลมีเดียน้องใหม่ที่ฮอตขึ้นมาเร็วมากสำหรับ คลับเฮาส์ (clubhouse) แอปสื่อสารด้วยเสียง เพราะบรรดาบิ๊กเนมจากหลายวงการเข้ามาใช้เป็นกลุ่มแรกตั้งแต่ตัวพ่อในวงการไฮเทคโลก “อีลอน มัสก์” ไปจนถึงดารา นักร้อง นักธุรกิจ และนักการเมืองดังในบ้านเรา ทำให้มีการใช้งานเพิ่มขึ้นมาก แม้เวอร์ชั่นแรกจะรองรับเฉพาะระบบปฏิบัติการ “iOS” จึงมีแต่บรรดาสาวกไอโฟนเท่านั้นที่ใช้ได้

คลับเฮาส์ฮอตขนาดที่ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส ออกมาเตือนว่าให้ใช้งานอย่างระมัดระวัง คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล และกฎหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปี 2563 และอื่น ๆ

ในมุมมองของดิจิทัลเอเยนซี่ชื่อดัง “อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์” กรรมการผู้จัดการ Adapter Digital มองว่าสิ่งที่คลับเฮาส์ทำให้เกิดขึ้นในเวลานี้คือการสร้างปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีแอปพลิเคชั่นไหนทำได้มาก่อน คือมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นเร็วมากเมื่อเทียบกับแอปอื่น ๆ ด้วยความที่เป็นคอมมิวนิตี้ใหม่ที่เปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ แบรนด์ การตลาด หรือแม้แต่เรื่องของสะสมและความรัก เป็นต้น

“คลับเฮาส์มีข้อดีคือผู้ใช้สามารถพูดคุยเปลี่ยนความคิดเห็นกับระดับผู้บริหาร ผู้นำองค์กรของทุกวงการได้ แต่มีข้อเสียตรงความเป็นส่วนตัวน้อย เพราะจะเห็นว่าใครเข้าฟังหัวข้อสนทนาห้องไหนบ้าง อีกทั้งยังดึงเวลาผู้ใช้งานมากกว่าโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เช่น TikTok ใช้เวลาดูต่อคลิปไม่นาน”

อย่างไรก็ตาม ในเชิงการตลาดหรือการนำมาประยุกต์ใช้กับแบรนด์ถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น เป็นช่วงที่นักการตลาดควรเข้ามาเรียนรู้และศึกษาเพื่อให้เข้าใจพฤติกรรม และวัฒนธรรมการใช้แพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไปจากการสื่อสารผ่านข้อความหรือภาพมาเป็นรูปแบบการสนทนาด้วย “เสียง” เป็นมิติใหม่ของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและแพลตฟอร์ม

“แอปนี้ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาและยังอีกหลายฟังก์ชั่นที่จะมีออกมา ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ หรือระบบ subscription ช่วงนี้จึงเป็นช่วงของการศึกษา ทั้งผู้ใช้คลับเฮาส์ยังมีจำนวนน้อยเนื่องจากโหลดได้เฉพาะ iOS ซึ่งคิดเป็นแค่ 25% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลก ดังนั้น ถ้าจะทำการตลาดแบรนด์ต่าง ๆ ต้องคิดดี ๆ เพราะคลับเฮาส์ไม่ได้เจาะกลุ่มแมส ทั้งยังเร็วเกินไปที่จะประเมินได้ว่าจะมาเร็วไปเร็วหรือไม่”

สำหรับมุมมองของนักกฎหมาย “ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ” ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไซเบอร์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากพิจารณาภาพรวมการใช้งาน เรื่องแรกที่ต้องระวัง คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เพราะการเริ่มต้นใช้ต้องมีการสร้างโปรไฟล์ที่มีรูปถ่ายและเบอร์มือถือเพื่อยืนยันตัวตน ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล หลังจากนั้นจะได้รับการ invite หรือเชิญเข้าไปใช้ โดยคลับเฮาส์ยังไม่มีกฎหรือการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลว่ามีสิทธิหรือการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร

“คลับเฮาส์ยังดึงข้อมูลจากเบอร์มือถือของผู้ใช้มาเป็นผู้ติดตามในคลับเฮาส์ได้ ทั้งที่ผู้ใช้ยังไม่ได้ยินยอมไม่เหมือนแพลตฟอร์มอื่นที่ให้เลือกหรือกดยินยอมก่อนนำข้อมูลมาใช้ อีกทั้งเมื่อผู้ใช้เข้าร่วมวงสนทนาในห้องต่าง ๆ มีการคอมเมนต์ วิพากษ์วิจารณ์ก็ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ถ้า A กดติดตาม B แล้ว A เข้าห้องสนทนาอะไร B จะเห็น โดยหลักต้องถามเจ้าของข้อมูลก่อนว่ายินยอมหรือไม่ จึงอาจมีปัญหากับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ในหลายส่วน”

ไม่รวมกฎหมายอื่น ๆ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญา เพราะการพูดคุยแต่ละห้องหากมีคนให้ข้อมูลเท็จอาจส่งผลต่อบุคคลอื่น ๆ เพราะแอป “คลับเฮาส์” ไม่สามารถบันทึกเสียงได้ ดังนั้น ถ้ามีใครกระทำการด้วยวิธีใด ๆ ในการบันทึกสียงระหว่างการสนทนา และนำข้อความนั้นไปดัดแปลง ตัดต่อ และมีผู้ได้รับความเสียหายก็ไม่สามารถเช็กได้ว่าข้อความที่แท้จริงเป็นอย่างไร รวมถึงการเข้าในห้องสนทนาถ้ามีการแคปหน้าจอไปใช้ต่อยังถือเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

“คลับเฮาส์เป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจแต่การใช้ก็ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะ กม.ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่ต้องกังวล โดยผู้สร้างห้องหรือผู้พูด (speaker) ต้องชี้แจงผู้ร่วมวงสนทนาว่าห้ามนำเสียงหรือข้อความระหว่างการสนทนาไปใช้หาผลประโยชน์ เพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ปัจจุบัน กม.มีผลบังคับใช้แล้วจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง”

“กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยแลนด์ อี บิสิเนส เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ Clubhouse จะเพิ่งเปิดให้ดาวน์โหลดได้เฉพาะ iOS แต่กระแสความนิยมก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในแง่ของแบรนด์ และนักการตลาดใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับผู้บริโภคได้ เช่น การสร้างห้องเพื่อแชร์ไอเดียใหม่ ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ในช่วงนั้นเสมือนทำวิจัยขนาดย่อม ๆ เพื่อให้แบรนด์หรือนักการตลาดนำไอเดียที่ได้จากผู้บริโภคมาพัฒนา และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือบริการให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกันยังถือเป็นพื้นที่ให้แบรนด์เข้ามาสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรงแบบเรียลไทม์

แต่สิ่งที่แบรนด์และนักการตลาดต้องทำ คือ การต้องช่วงชิงพื้นที่ให้ได้ก่อน ซึ่งตอนนี้เป็นจังหวะที่ดี ในการเข้ามาเรียนรู้ไปพร้อมผู้บริโภค

“Clubhouse มีข้อดีคือ เป็นโอกาสของแบรนด์ใหม่ที่จะทำให้ผู้บริโภครู้จักและเกิดการทดลองสินค้า หรือบริการอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีข้อเสียคือ แบรนด์อาจได้เสียงตอบรับจากผู้บริโภคโดยตรงว่าดี ไม่ดีอย่างไร ซึ่งต้องรับมือและบริหารจัดการส่วนนี้ให้ได้”