ประยุทธ์ ประวิตร อำนาจพิเศษ ค้ำถ่อ รัฐบาลพลังประชารัฐ ครบเทอม ?

ค้ำ พปชร

รัฐบาลผสม 3 พรรคใหญ่ กับ 15 พรรคย่อย และเสียงงูเห่า-ขาประจำ 275 เสียง ยังขาแข็ง ยืนโต้มรสุมโควิด ข้ามปีที่ 3 เข้าสู่ปีสุดท้าย ก่อนเลือกตั้ง

ท่ามกลางปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล อันดับ 1 อย่างพลังประชารัฐ 122 เสียง กับพรรคอันดับ 2 อย่างภูมิใจไทย 61 เสียงและพรรคอันดับ 3 ประชาธิปัตย์ที่มี 50 เสียง ที่ตอบโต้กันไป-มา ทุกวาระ ทั้งในฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ที่เหลืออีก 15 พรรค 42 เสียง ต่างอยู่ในภาวะ โหวตตามน้ำ ตามวาระลูกหาบ ประกอบด้วย พรรคที่ 4.ชาติไทยพัฒนา 12 เสียง 5.รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง 6.พลังท้องถิ่นไท 5 เสียง 7.ชาติพัฒนา 4 เสียง 8.เศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง 9.รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง

พรรคที่ 10.พลังชาติไทย 1 เสียง 11.ประชาภิวัฒน์ 1 เสียง 12.พลังไทยรักไทย 1 เสียง 13.ครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง 14.ประชานิยม 1 เสียง 15.พลเมืองไทย 1 เสียง 16.ประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง 17.พลังธรรมใหม่ 1 เสียง 18.ประชาธรรมไทย 1 เสียง และพรรคที่ 19.ไทรักธรรม 1 เสียง

แต่โครงสร้าง ความแข็งแกร่งของรัฐบาล ไม่ได้มาจาก “จำนวนมือ” แต่หากว่ามีเสาค้ำยัน จากนอกรัฐบาล ที่มีนัยสำคัญ ต่อการอยู่การไป ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

นักการเมืองผู้อยู่เบื้องหลังเกมล้มคู่แข่งด้วยแท็กติกกฎหมายอย่าง ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนักวิชาการ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลนี้ “ทุกฝ่ายรู้ว่า มีพลังพิเศษที่ทำให้อยู่รอดได้ และกลไกรัฐธรรมนูญก็เอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ภายใต้การตัดสินขององค์กรอิสระที่ตัดสินอะไรก็มีทิศทางเป็นบวกกับรัฐบาลทุกอย่าง”

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กล้าประกาศ ต่อหน้าวุฒิสมาชิก 250 เสียง ว่า “จะอยู่จนครบเทอม” ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ นั้น “ไม่สามารถไปสั่งศาลได้ เพราะคดีของผมเองมีเป็นร้อย ต่อสู้ในศาลมีหลายคดี หากชี้ได้ก็ต้องจบ เพราะส่วนตัวก็ต้องได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.”

วิกฤติและความล้มเหลวในการกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงไม่อาจระคายผิว พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศบค.คุมทุกโครงสร้างอำนาจ นั่งเป็นประธานกรรมการทุกชุด และรวบอำนาจไว้ในมือภายใต้กฏหมาย 31 ฉบับ ตรงกันข้ามกลับผลักดันความรับผิดชอบ-หนังหน้าไฟ ไปที่หัวขบวนข้าราชการประจำ 3 องค์กร ทั้งเลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) และอธิบดีกรมควบคุมโรค

สงครามเย็นระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ กับพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ปะทุขึ้นทุกองศาของปัญหารัฐบาล

ท่ามกลางจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ในวาระ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่จะครบ 1 ปีการดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้ 13 ขุนพล กรรมการบริหาร และหัวหน้าสารพัดมุ้งการเมือง

กลุ่ม 10 แกนนำ ที่เคยเดินเกมขับนักการเมือง “กลุ่ม 4 กุมาร” พ้นจากพรรค กำลังตกที่นั่งลำบาก เฉพาะอย่างยิ่ง เลขาธิการพรรค อย่าง อนุชา นาคาศัย ที่ได้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาครอบครอง 1 ปี ด้วยการแบ็กอัพของ “กลุ่มสามมิตร” ที่มี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นพลังขับเคลื่อนหลัก

เพราะขาใหญ่แตกคอ แย่งชิงอำนาจกันตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จากที่เคยเป็นเงา-เบื้องหลัง ขึ้นสู่เบื้องหน้า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะ รองหัวหน้าพรรค ปรากฏผลงานการเมืองและทรงอิทธิพล สั่นสะเทือนจนทะลุเพดานขึ้นเป็น แคนดิเดตคนสำคัญ ที่จะเข้าชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคนใหม่ ในเกมชิงไหวชิงพริบรวบรัดจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีที่ จ.ขอนแก่น 18 มิถุนายน 2564

ในขณะที่มรสุมเขย่าเก้าอี้เลขาธิการพรรค กำลังดุเดือดในทำเนียบรัฐบาล สมศักดิ์ เทพสุทิน รองหัวหน้าพรรค สายสามมิตร และรมว.ยุติธรรม ปรากฏตัวขึ้นที่ตึกไทยคู่ฟ้า เคียงคู่ อนุชา นาคาศัย ด้วยการชิงซีนตัดสินใจสายฟ้าแลบ หาสปอนเซอร์สนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2020 สนองวาระคืนความสุข ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สปอนเซอร์ม้ามืดผู้ตัดสินใจเพียงเสี้ยวนาที จ่ายวงเงิน 310 ล้านบาท ถูกต่อท่อ มาจากเครือข่ายธุรกิจกลุ่มสามมิตร สายตรง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ปรากฏหน้าและแบ็กอัพของ โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เป็นพี่ชายของนายสุริยะ และบิดาของ พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ กรรมาธิการการกีฬาสภาผู้แทนราษฎร

เกมรับของกลุ่มสามมิตร กลายเป็นเกมรุกชั่วข้ามคืน แต่สงครามการเขย่าบัลลังก์ เลขาธิการพรรค ผลักรัฐมนตรีสามมิตรพ้นอำนาจ ยังรออยู่ด้วยใจระทึก ในเกมประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรค วันที่ 18 มิถุนายน ที่จัดการตระเตรียมโดย “กลุ่ม 3ช.” อันเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการระดับ รองหัวหน้าพรรค 2 คน และอีก 1 คนเป็นเหรัญญิกพรรค

องค์ประชุมที่แหลมคมถูกกำหนดไว้ 350 คน และวาระลับ ที่ให้กรรมการบริหารพรรค 27 คน เขียนใบลาออกแบบไม่ลงวันที่ ไว้ล่วงหน้า และ พล.อ.ประวิตร ส่งสัญญาณว่า อาจจะไม่ได้ไปเข้าร่วมประชุมพรรค แต่มีวาระลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.ขอนแก่น อันเป็นเขตที่จัดประชุมเขย่าโครงสร้างอำนาจพรรค ครั้งสำคัญ

เกมชิงอำนาจที่แหลมคม อยู่ที่ข้อบังคับพรรค ที่เปิดช่องไฟไว้ว่า “ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ ถ้าหัวหน้าพรรคการเมืองไม่มาประชุมให้รองหัวหน้าพรรคการเมืองลำดับต้นทำหน้าที่แทน”

และ 1 ใน 9 รองหัวหน้าพรรค ที่จะเป็นผู้ร่วมกำหนดเกม เรียงลำดับดังนี้ 1. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการพรรค 2. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 3. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  4. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ (ลาออก) 5. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 6. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ (อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี กปปส.) 7. นายวิรัช รัตนเศรษฐ (เตรียมสู้คดีทุจริตสนามกีฬา) 8. นายสุชาติ ชมกลิ่น 9. นายนิพนธ์ ศิริธร และ10. นายไพบูลย์ นิติตะวัน

ทุกพรรคร่วมรัฐบาล กำลังระทึกกับการจัดประชุมใหญ่สามัญพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ซุ่มเงียบเรื่องการรับฝากเลี้ยง-ดูด ส.ส.ในสภาอย่างต่อเนื่อง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศข่มทุกสัปดาห์ว่าผู้สมัครเลือกตั้งพร้อมทุกเขตทั่วประเทศ

ท่ามกลางข่าวที่สลับกลับไปมา สไตล์ 3 ป.ที่ช่ำชองเกมเก่า “ลับ-ลวง-พราง” ทั้งเตรียมยุบสภา-เตรียมเลือกตั้ง และประกาศอยู่ครบเทอม เคลื่อนทั้งทุน-เคลื่อนทั้งเกมการเมืองความมั่นคง ค้ำยันรัฐบาล “ประยุทธ์” มาแล้ว 7 ปี

เกมแย่งชิงการนำระดับ “สามมิตร” สมศักดิ์-สุริยะ-อนุชา และอำนาจใหม่ใน “กลุ่ม 3ช.” ร.อ.ธรรมนัส-นฤมล-สันติ ล้วนเป็นไปเพื่อเป้าหมายค้ำยัน รัฐนาวาประยุทธ์ ให้อยู่ยาวครบเทอม และเป็นสปริงบอร์ดเด้งให้พรรรคพลังประชารัฐ เข้าสู่เลือกตั้ง และกำชัยชนะ ในสมัยหน้า ?