กทม.ไฟเขียวพื้นที่ทำการค้า หาบเร่ แผงลอย 2 ปี บรรเทาผลกระทบโควิด

เศรษฐกิจไทย
(File Photo)Mladen ANTONOV / AFP

หาบเร่แผงลอยเฮ! กทม.ไฟเขียวอนุญาตพื้นที่ทำการค้าในที่สาธารณะได้คราวละ 2 ปี หวังช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 หลังผู้ค้าร้องเรียนเข้ามาเยอะว่าเดือดร้อน ไฟเขียวพื้นที่มีอัตลักษณ์ วิถีชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ย่านบางลำพู-ถนนข้าวสาร

วันที่ 15 มิถุนายน 2564  นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2564

ที่ประชุมได้หารือการแก้ไขปรับปรุงประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ ลงวันที่ 28 มกราคม 2563 และ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564

สกลธี ภัททิยกุล
สกลธี ภัททิยกุล

เนื่องจากกลุ่มผู้ค้าได้ร้องเรียนผ่านหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ คณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องระยะเวลาทำการค้าคราวละ 1 ปี ซึ่งหากไม่ได้รับสิทธิการทำค้าขายต่อเนื่องจะไม่คุ้มกับการลงทุน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อผู้ค้าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ (ฉบับที่ 3) ข้อ 10 เงื่อนไขการทำการค้า ให้ทำการค้าได้คราวละ 2 ปี

ส่วนพื้นที่ใดมีความจำเป็นต้องทำการค้าต่อ ให้สำนักงานเขตทบทวนความเหมาะสมโดยเสนอผ่านคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ระดับเขต เพื่อเสนอคณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานครพิจารณา

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้พื้นที่บริเวณถนนไกรสีห์ ถนนตานี และถนนรามบุตรี เป็นพื้นที่ทำการค้าที่มีอัตลักษณ์ วิถีชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ย่านบางลำพู เนื่องจากเป็นย่านการค้าที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมมาเยือนจำนวนมาก เป็นศูนย์รวมของร้านอาหารนานาชาติ ทั้งที่เป็นร้านประจำและร้านที่ขายริมถนน และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ยังผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของท้องถิ่นและประเทศ

รวมทั้งเพื่อให้การทำการค้าย่านถนนข้าวสารเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ วิถีชุมชน ภาพลักษณ์ของประเทศและของกรุงเทพมหานคร รวมถึงประโยชน์สาธารณะในการสัญจรของประชาชน