สถานการณ์โควิดไทย สถิติ-ตัวเลข สะท้อนวิกฤตทุกระดับ

สถิติ โควิด-19
ภาพจาก pixabay

เปิดตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย สะท้อนความจริงผ่านตัวเลข 

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทย ยังคงวิกฤต จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตเป็นนิวไฮ จนไม่รู้ว่าจุดสูงสุดอยู่ที่ตัวเลขใด

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมสถิติและตัวเลขที่น่าสนใจ ซึ่งนอกจากจะสะท้อนให้เห็นความจริง และตัวเลขคาดการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญ ที่นำไปสู่การวางแผนและปรับตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต

ติดเชื้อสะสมมากสุดอันดับ 44 ของโลก

ข้อมูลจากเว็บไซต์ worldometers ซึ่งอัพเดตสถานการณ์โควิดแต่ละประเทศแบบเรียลไทม์ ณ เวลา 07.30 น. วันนี้ ระบุว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 44 ของโลก จากทั้งหมด 218 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสม 561,030 ราย เสียชีวิต 4,562 ราย

ส่วนประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด 10 อันดับแรก (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ค.) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 35 ล้านราย, อินเดีย 31 ล้านราย, บราซิล 19 ล้านราย, รัสเซีย 6.1 ล้านราย, ฝรั่งเศส 6 ล้านราย, สหราชอาณาจักร 5.7 ล้านราย, ตุรกี 5.6 ล้านราย, อาร์เจนตินา 4.8 ล้านราย, โคลอมเบีย 4.7 ล้านราย และสเปน 4.3 ล้านราย

ติดเชื้อรายใหม่มากสุดอันดับ 3 ในเอเชีย

ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวานนี้ (29 ก.ค.) เผยว่า ประเทศในเอเชียพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ปากีสถาน, ญี่ปุ่น, บังกลาเทศ และไทย

หากพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 8 ในเอเชีย แต่หากพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 3 ในเอเชีย ด้วยจำนวน 17,669 ราย ขณะที่อันดับ 1 อินโดนีเซีย 47,791 ราย ส่วนอันดับ 2 อินเดีย 43,211 ราย

 

21 ราย เสียชีวิตในบ้าน

ข้อมูลจาก ศบค. วานนี้ (29 ก.ค.) เผยว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดอยู่ที่ 165 ราย ในจำนวนนี้มีมากถึง 21 ราย เสียชีวิตที่บ้าน ถือเป็นวันที่มีการเสียชีวิตที่บ้านมากที่สุด จากการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 23-28 กรกฎาคม มีการเสียชีวิตที่บ้านเพียง 1-5 ราย เท่านั้น

ศบค.ระบุด้วยว่า ผู้ที่เสียชีวิตที่บ้าน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม มากสุดอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ 12 ราย รองลงมาคือปทุมธานี 7 ราย ร้อยเอ็ดและฉะเชิงเทรา จังหวัดละ 1 ราย

ป่วยสะสม 1 แสนรายใน 14 วัน

วันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ขยายเวลาล็อกดาวน์ไปอีก 2 เดือน เริ่ม 1 สิงหาคม ถึง 31 กันยายน เนื่องจาก วันที่ 9 กรกฎาคม ได้มีการประชุมศบค. ซึ่งในที่ประชุมปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานการแพร่ระบาดว่า สถานการณ์ในระดับโลก ยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในหลายภูมิภาค

สำหรับแนวโน้มการแพร่ระบาดในระยะต่อไป กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่าจะมีผู้ติดเชื้อจำนวน 10,000 รายต่อวัน หรือมีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 100,000 ราย ภายในระยะเวลา 14 วัน ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในอัตราเกิน 100 รายต่อวัน จึงมีความจำเป็นต้องขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ออกไป เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการควบคุมและระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

กทม.ติดเชื้อไม่มีอาการ 3-5 แสนคน

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านทางบล็อกดิต (Blockdit) ร้อยแอดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย เรื่อง ประมาณผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่แสดงอาการใน กทม. โดยมีวิธีการคาดเดาหรือประเมินได้สองวิธีดังนี้

1) ประเมินจากองค์ความรู้ ที่บอกว่า ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส 100 คน จะแสดงอาการเพียง 20 คน แล้วติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการถึง 80 คน สัดส่วนหนึ่งต่อสี่

เมื่อกรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 137,263 ราย เป็นการตรวจพบผู้ติดเชื้อที่มีอาการในระบบ 104,594 ราย ทำให้คาดได้ว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเป็นสี่เท่าเท่ากับ 418,378 ราย แต่ในการตรวจของกรุงเทพมหานครนั้นได้ตรวจเชิงรุกพบผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการไปแล้ว 39,402 ราย เมื่อนำมาหักออกจากค่าประมาณการ 418,378 ราย จึงคาดว่าจะเหลือผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอยู่อีก 378,976 ราย

2) ประเมินจากการพบสัดส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ด้วยชุดทดสอบตนเองที่บ้านแล้ว พบว่ามีการตรวจพบผู้ติดเชื้อ 11.70% ของจำนวนผู้ทดสอบทั้งหมด (โดยมาจากตัวอย่างเบื้องต้น 9,427 ตัวอย่าง)

เมื่อคำนวณประชากรของกรุงเทพมหานคร ตามทะเบียนราษฎร เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 5,487,876 คน จึงคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อ 642,081 คนขณะนี้ตรวจไปแล้วทั้งสิ้น 137,263 คน จึงเหลือผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการอยู่ 504,818 คน

จะเห็นได้ว่า การประเมินหรือคาดเดาจากทั้งสองวิธีนั้น มีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ในเขตกรุงเทพฯประมาณ 4-5 แสนคน ทำให้ผู้รับผิดชอบในเขตกรุงเทพฯ จำเป็นที่จะต้องวางระบบ เพื่อรองรับ ผู้ที่ตรวจพบผลเป็นบวก จากชุดทดสอบด้วยตนเองดังกล่าว

ตรวจ ATK ดันยอดพุ่งหลักแสน

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โพสต์เอกสารบันทึกข้อความ ส่วนราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า จากยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อวันที่ 28 กรกฎาคม เป็นจำนวน 16,000 กว่าคน แต่ถ้านับรวมกรณีผู้ป่วยมีผลเป็นบวกที่ตรวจจาก Antigen test kit และที่ทำการตรวจเชิงรุกด้วย ยอดผู้ป่วยติดเชื้ออาจจะสูงขึ้นกว่านี้ 8-9 เท่า ดังนั้น หากมีการตรวจหาผู้ป่วยได้แบบไม่จำกัด ยอดผู้ติดเชื้ออาจสูงถึง 100,000 คนต่อวัน

อนุมัติ ATK 8.5 ล้านชุด

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อหาผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว และเร่งลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในระลอกปัจจุบัน

โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ และไม่ได้รับการคัดแยกหรือกักตัว ทำให้เกิดการแพร่เชื้อภายในครอบครัวและในชุมชนที่พักอาศัยมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“นายกรัฐมนตรีจึงได้มีนโยบายให้มีการดำเนินการการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ครอบคลุมที่สุด ด้วยการใช้ชุดตรวจหาเชื้อโควิด – 19 แบบ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำต้องกระจายชุดตรวจ ATK นี้ อย่างทั่วถึงและด้วยความโปร่งใสด้วย”

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2564 (วาระพิเศษ) เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา จึงได้อนุมัติจัดซื้อชุดตรวจโควิดกว่า 8.5 ล้านชุด วงเงิน 1,014 ล้านบาท เพื่อจัดหาชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงใช้ตรวจเอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดหา และกรมควบคุมโรคกำลังวางแผนจะกระจายชุดตรวจให้ประชาชนได้ใช้ต่อไป”

ผู้ป่วยกทม.เกินลิมิตเตียง 5 เท่า

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข ถึงสถานการณ์เตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า ปัจจุบันจำนวนเตียงในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล หรือบางจังหวัดที่มีการระบาดมาก ๆ จะเจอปัญหาเตียงไอซียู หรือ กึ่งไอซียู ไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย

นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวว่า ถ้าผู้ป่วยในกรุงเทพฯ เกินพันก็แย่แล้ว แต่วันนี้ยอดทั่วประเทศ 1.7 หมื่นคน เป็นของกรุงเทพฯ 4-5 พันคน เรียนตรง ๆ เตียงไม่พอทั้งสีเหลือง สีแดง ตอนนี้เต็มหมด สีเขียวก็ไม่มีแล้ว จะมีสีเขียวที่ว่างตามฮอสปิเทล ที่สีเขียวเริ่มว่าง เพราะเราทำ Home Isolation ซึ่งก็มีปัญหาเรื่องซัพพลายยา ซึ่งหลายเครือข่ายกำลังช่วยกันอยู่

ขณะที่เตียงในกรุงเทพฯ หากมีผู้ป่วย 3-4 พันราย เกินรองรับมาแล้ว 3 เท่า ตอนนี้เพิ่มเป็น 5 เท่า ก็เกินลิมิตไปแล้ว 5 เท่า และหน้างานก็ไม่ไหวจริง ๆ นำเข้าไปก็ไม่รู้จะให้ไปนอนที่ไหน ER (ห้องฉุกเฉิน) หลาย รพ.บางครั้งต้องปิดชั่วคราว เพราะไม่มีที่แม้กระทั่งการตั้งเตียง

“ขอย้ำอีกครั้งว่า ตอนนี้เตียงในระบบทั้งของภาครัฐและเอกชนในกรุงเทพและปริมณฑลล้นจริง ๆ ต้องกราบขออภัย อยากให้เข้าใจว่า ER (ห้องฉุกเฉิน) มันล้นจริง ๆ ถ้าเราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้นโยบายต้องชัดเจน ก็เรียนในหลาย ๆ เวที ล็อกดาวน์ครั้งนี้ไม่ค่อยเหมือนล็อกดาวน์ การจราจรยังมากอยู่ อาจจะต้องลดการออกจากบ้านสักนิด