ยารักษาโควิด เยอรมนีบริจาค มาถึงประเทศไทยแล้ว

ทูตเยอรมนี เผย
ภาพจากทวิตเตอร์ Georg Schmidt

เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเผย โมโนโคลนอล แอนติบอดี ที่ประเทศเยอรมนีได้บริจาคให้กับประเทศไทย มูลค่า 150 ล้านบาท ถึงไทยแล้ว

วันที่ 13 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า ยาที่ประเทศเยอรมนีได้บริจาคให้กับประเทศไทยใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้เดินทางถึงไทยแล้ว

โดยนายเกออร์กได้เดินทางไปรับโมโนโคลนอล แอนติบอดี มูลค่า 150 ล้านบาท ร่วมกับกรมควบคุมโรค ในเช้าวันนี้

ทั้งนี้ โมโนคอล แอนติบอดี คือ แอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ออกแบบมาให้มีความจำเพาะต่อความต้องการโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ใช้รักษาโควิด-19 มีทั้งแบบผสมและไม่ผสม

Monoclonal antibody คืออะไร ?

วันที่ 20 สิงหาคม 2564 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยข้อมูลเรื่อง ทำความรู้จัก Monoclonal antibody สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ระบุว่า Monoclonal antiboy คือแอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ออกแบบมาให้มีความจำเพาะต่อความต้องการโมโนโคลนอล แอนติบอดีที่ใช้รักษาโควิด-19 มีทั้งแบบผสมและไม่ผสม

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติการใช้ยาแอนติบอดีแบบผสมรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ

โดยยาแอนติบอดีแบบผสม เป็นแอนติบอดีชนิดโมโนโคลนอล 2 ชนิด คือ แอนติบอดีที่สกัดจากหนูซึ่งถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มีระบบภูมิคุ้มกันอย่างมนุษย์ และแอนติบอดีที่สกัดจากผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลงและยับยั้งการติดเชื้อภายในร่างกายผู้ป่วยลงได้

ผลการวิจัยพบว่า ช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ป่วย ลดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตได้ โดยต้องให้เร็วตั้งแต่ระยะแรกในการป่วย ถูกใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะมีอาการรุนแรง ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น

ทั้งนี้ยังไม่มีผลการศึกษาในมนุษย์ถึงการรักษาการติดเชื้อจากสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น เบต้า อัลฟ่า แกมม่า และเดลต้า