คปภ.ยกเลิกสิทธิ เบิกค่ารักษาเคลมโควิด home isolation มีผลตั้งแต่ 1 พ.ย. 64

คปภ.แจ้งยกเลิกสิทธิ เบิกเคลมค่ารักษาพยาบาล-ค่าชดเชยรายวัน ในฐานะผู้ป่วยในแบบ home isolation กรณีติดเชื้อโควิด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 เหตุจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง-ผู้ฉีดวัคซีนระดับสูงด้านกูรูวงการประกัน” ชี้ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล-ค่าชดเชยรายวันในฐานะผู้ป่วยในรักษาตัว “โรงพยาบาลภาคสนาม-hospitel”

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ คปภ.ได้ออกคำสั่งนายทะเบียน เรื่อง การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิดสำหรับผู้เอาประกันติดเชื้อโควิด-19 และได้เข้ารับการดูแลรักษาพยาบาลแบบ home isolation หรือแบบ community isolation สำหรับบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัยนั้น

เนื่องจากปัจจุบันสถิติจำนวนผู้ป่วยโควิดของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ที่เข้ารับการดูแลรักษาพยาบาลแบบ home isolation หรือแบบ community isolation  มีจำนวนที่ลดลงต่อเนื่อง และมีการคาดการณ์ว่า การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิดของประเทศไทย จะทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคดังกล่าวในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทำให้ คปภ.พิจารณาไม่ขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ (ยกเลิกสิทธิ) ของคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว จากประกาศเดิมที่สิ้นสุดการใช้สิทธิไปเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา

“คปภ.ขอขอบคุณสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทยและบริษัทประกันทุกบริษัท ที่ให้การช่วยเหลือสังคม โดยการจ่ายค่าสินไหมกรมธรรม์ประกันภัยโควิด สำหรับผู้เอาประกันที่ต้องเข้ารับการดูแลรักษาพยาบาลแบบ home isolation หรือแบบ community isolation ซึ่งเป็นส่วนช่วยให้ประชาชนคนไทยเห้นถึงความสำคัญของระบบประกันภัย อีกทั้งยังทำให้ระบบการประกันภัยเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชนต่อไป” นายอาภากรกล่าว

นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ อดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก ในฐานะกูรูวงการประกันภัย กล่าวว่า ตามที่ คปภ.ได้ออกคำสั่งให้บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย ขยายสิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวัน สำหรับผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้านหรือกักตัวในชุมชน ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน และต่อมาได้ขยายสิทธิ์ถึงวันที่ 31 ตุลาคมนั้น จนกระทั่งเมื่อวานนี้ (4 พ.ย.64) คปภ.ได้ออกหนังสือเวียนไม่ขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ของคำสั่งเดิมในเรื่องนี้

เท่ากับมีผลให้สิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันในกรณีนี้ต้องสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นผู้ที่เข้ารักษาพยาบาลในสถานที่ดังกล่าว หลังวันที่ 31 ต.ค. 64 จึงไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันในฐานะผู้ป่วยในได้

แต่ยังคงสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยนอกได้ หากผู้เอาประกันท่านนั้นได้ซื้อสัญญาค่ารักษาพยาบาลประเภทที่เบิกค่ารักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ได้

อนึ่ง การแจ้งยกเลิกสิทธิในกรณีดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อสิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันในฐานะผู้ป่วยในของผู้เอาประกันที่ไปรักษาตัวในโรงพยาบาลภาคสนามและหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (hospitel) ซึ่งยังคงถือเป็นผู้ป่วยในเทียบเท่ากับผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลปกติ