ธนาคารโลกชี้ปี 2564 ไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 1.6 แสนคน คาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ขยายตัว 1% ปี 2565 ขยายตัว 3.9% และ 4.3% ในปี 2566 ย้ำรัฐใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทย
วันที่ 14 ธันวาคม 2564 ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ ประจำประเทศไทย เผยแพร่รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยธันวาคม 2564 โดยมีเนื้อหาระบุว่า หลังจากประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นในไตรมาส 3 กิจกรรมเศรษฐกิจก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นแล้ว
ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประเทศไทยปี 2564 จะเติบโตที่ 1.0% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการที่ธนาคารโลกได้เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
สะท้อนให้เห็นว่า การบริโภคของภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังคงมีไม่มากนักจนถึงสิ้นปี 2564 แม้ว่าจะเพิ่งมีการเปิดประเทศ เมื่อไม่นานมานี้
การส่งออกสินค้าเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโต สะท้อนถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ของโลก และคาดว่าการลงทุนจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง
มาตรการการให้เงินเยียวยา การริเริ่มด้านสาธารณสุข โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมาตรการสนับสนุนด้านการคลังในรูปแบบอื่น ๆ ได้ช่วยหนุนอุปสงค์ของภาคเอกชน ขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนการบริโภคในกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง และช่วยลดผลกระทบของวิกฤตความยากจนด้วย
อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยจะสามารถลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปี 2565 โดยจะมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน และการกลับมาของนักท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัว
ทั้งนี้ คาดการณ์อัตราการเติบโตของจีดีพีจะเพิ่มขึ้น 3.9% ในปี 2565 และเติบโต 4.3% ในปี 2566 โดยได้แรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมภาคบริการ ส่วนการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวเกือบ 4.0% ต่อปีในปี 2565 และ 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในปี 2564 ที่ 1.0%
ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเกือบ 7 ล้านคนในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี และเพิ่มขึ้นอีกในปี 2566 เป็นประมาณ 20 ล้านคนหรือประมาณครึ่งหนึ่งของระดับนักท่องเที่ยวในปี 2562 ทั้งนี้ คาดว่า การท่องเที่ยวจะช่วยส่งผลต่ออัตราการเติบโตของจีดีพีได้ 2% ในปี 2565 และ 4% ในปี 2566
ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่า จะยังสามารถควบคุมได้ ในขณะที่ช่องว่างผลผลิตยังมีอยู่มาในปี 2564 และ 2565
ด้านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ จะมีศักยภาพสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศหลังการระบาดของโควิด-19 ไปพร้อมกับการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้บริการดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการเดินทาง
โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจต่าง ๆ ช่วยส่งเสริมการค้าขายและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น การค้าดิจิทัลเป็นช่องทางที่สำคัญสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) ในประเทศไทย ที่ช่วยลดลต้นทุนการทำธุรกรรมและช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ได้
เนื่องจากรัฐบาลได้แสดงเจตจำนงอย่างแรงกล้าที่จะผลักดันวาระดิจิทัลภายใต้นโยบายอุตสาหกรรม 4.0 แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อพัฒนาบริการดิจิทัลและธุรกิจดิจิทัล
- ประการแรก ความพยายามส่งเสริมการแข่งขันและสร้างสภาวะแวดล้อมในการประกอบธุรกิจที่เป็นธรรมนั้น มีความจำเป็นเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของตลาด และเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกันของระบบดิจิทัล
- ประการที่ 2 ความพร้อมของทักษะดิจิทัล พร้อมกับทักษะที่จะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล เช่น การจัดการและบริหารองค์กร
- ประกาศที่ 3 การขยายการเข้าถึงนวัตกรรมของแหล่งเงินทุน จะช่วยเพิ่มความสามารถของบริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะ SMEs ในการใช้รูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ และเทคโนโลยีดิจิทัล
ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลก ประจำประเทศไทยกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงหนุนในไตรมาส 4 ของปี 2564 จากการท่องเที่ยวภายในประเทศและการเคลื่อนย้ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยความเร็วในการฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติและการบริโภคภายในประเทศ
ขณะที่อัตราความยากจนของประเทศไทย คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 6.4% ในปี 2564 โดยมีคนยากจนเพิ่มขึ้นประมาณ 160,000 คน นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563
จากการสำรวจครัวเรือนทางโทรศัพท์ของธนาคารโลกปี 2564 พบว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงเป็นพิเศษต่อกลุ่มเปราะบาง โดยรวมแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามทางโทรศัพท์ 2,000 ราย ได้รับผลกระทบจากการตกงาน การหยุดงานชั่วคราว และจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลง หรือค่าจ้างลดลง
เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทยกล่าวว่า แผลเป็นจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 อาจคงอยู่ไปอีกนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการสูญเสียงานและการเปิดโรงเรียน ซึ่งการพัฒนาที่นำโดยดิจิทัลจะสามารถช่วยชดเชยผลกระทบจากรอยแผลเป็นเหล่านี้ และทำให้มั่นใจได้ว่าการเติบโตจะมีความทั่วถึงและเท่าเทียมกัน