คนจนไทยเพิ่มขึ้น 5 แสนคน ปัตตานี ติดท็อปเทนตลอด 17 ปี

น้ำท่วม หนองจิก ปัตตานี
Photo by Tuwaedaniya MERINGING / AFP

เปิดรายงานสภาพัฒน์ พบปี 2563 คนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 5 แสนคน เส้นความยากจนขยับลงมาอยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน ภาคใต้ อีสาน เหนือประสบปัญหายากจนรุนแรง แนะรัฐพัฒนาระบบฐานข้อมูลแก้ปัญหาตรงกลุ่มเป้าหมาย 

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานเรื่องสถานการณ์ความยากจนความเหลื่อมล้ำปี 2563 ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จัดทำขึ้นล่าสุด พบว่า ในปี 2563 สัดส่วนคนจนที่ดูจากเส้นความยากจน เพิ่มขึ้นเป็น 6.84% จากปี 2562 ที่อยู่ที่ 6.24% คิดเป็นจำนวนคนจน 4.8 ล้านคน จากปี 2562 มีจำนวน 4.3 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 5 แสนคนจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ เส้นความยากจนปี 2563 อยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนปี 2562 อยู่ที่ 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัว 6.1% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ขยายตัว 2.3% ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในวงกว้าง และมีผู้ว่างงานจำนวน 3.73 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.98%

อย่างไรก็ตาม ในรายงานจาก สศช.ระบุว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่จำนวนคนจนที่คำนวณจากคนที่มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพต่ำกว่าเส้นความยากจน กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่รัฐบาลได้ดำเนินการตลอดช่วงระยะเวลาของผลกระทบ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง โครงการสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการช่วยเหลือผู้ประกันตน

โดยโครงการดังกล่าวได้ช่วยเหลือให้ประชาชนมีความสามารถในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 13,473 บาทต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 1,123 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งคิดเป็น 40% ของเส้นความยากจน

เส้นความยากจน
ที่มา : สศช.

ครัวเรือนยากจนเพิ่มเป็น 1.4 ล้านครัวเรือน

อีกทั้งยังพบว่า ภาพรวมครัวเรือนทั้งประเทศมีความเปราะบางเพิ่มขึ้น จากความสามารถหารายได้ลดลง สะท้อนจากชั่วโมงการทำงานที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

ประกอบกับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้นมาก และเงินออมในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีแนวโน้มลดลง ทำให้พบว่า ในปี 2563 มีครัวเรือนยากจนเพิ่มขึ้น 7% มาอยู่ที่จำนวน 1.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วน 5.51% ของครัวเรือนทั้งหมด จากปีก่อนหน้ามีครัวเรือนยากจนประมาณ 1.31 ล้านครัวเรือน

เมื่อแบ่งตามระดับความรุนแรงของความยากจน พบว่ามีคนยากจนมาก จำนวน 1.61 ล้านคน หรือคิดเป็น 2.31% ของประชากรทั้งประเทศ เพิ่มจากปีก่อนหน้า 26% คนยากจนน้อย มีจำนวน 3.14 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 3% และคนเกือบจน มีจำนวน 5.14 ล้านคน ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้า 5%

สะท้อนว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คนยากจนที่มีปัญหาความยากจนอยู่แล้วมีปัญหารุนแรงมากขึ้น และต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และจำเป็นต้องค้นหากลุ่มเป้าหมาย และมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเจาะจง ผ่านการพัฒนาระบบฐานข้อมูล เช่น ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อบริหารจัดการข้อมูลพัฒนาคนทุกช่วงวัย และแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้า

ทั้งนี้ การแบ่งระดับความรุนแรงของความยากจน ได้แก่ คนจนมากคือ มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจนเกินกว่า 20% คนจนน้อย มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจนมีไม่เกิน 20% และคนเกือบจน มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคสูงกว่าเส้นความยากจนไม่เกิน 20%

ครัวเรือนยากจน
ที่มา : สศช.

ใต้ อีสาน เหนือ ยากจนรุนแรง

ขณะที่ เมื่อแบ่งความยากจนระดับภาคหรือเขตพื้นที่ พบว่า ภูมิภาคที่มีปัญหาความยากจนรุนแรง ได้แก่ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ โดยพบสัดส่วนคนจน 11.60%, 11.50% และ 6.83% ตามลำดับ

ขณะที่ เมื่อพิจารณาจากจำนวนคนจน พบว่า คนจนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง และ กทม.ตามลำดับ

โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นปัญหาด้านโครงสร้าง กล่าวคือ (1) จากปัญหาโครงสร้างการผลิต ซึ่งประชากรภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรและเป็นแรงงานนอกระบบ ผู้มีงานทำในภูมิภาคดังกล่าวเกินกว่า 40% ทำงานในภาคเกษตร มีรายได้ไม่แน่นอน

อีกทั้ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแรงงานนอกระบบสูงถึง 74.79% ภาคเหนือ 69.31% และภาคใต้ 56.19% ของประชากรในภาค ที่มีรายได้ไม่แน่นอนเช่นกัน

(2) ปัญหาโครงสร้างประชากรที่เป็นสังคมสูงวัย ส่งผลให้วัยแรงงานเข้าสู่วัยสูงอายุ บุคคลที่เคยสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนปรับเปลี่ยนสถานะเป็นผู้พึ่งพิง โดยปัจจุบันพบว่าประชากรอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีเพียง 35% ที่ประกอบอาชีพ และผู้สูงอายุในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนคนจนสูง

ส่วนปัญหาความยากจนในภาคใต้ พบว่า มีปัญหารุนแรงขึ้นจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) โดยปี 2563 คนจนใน 3 จังหวัดมีสัดส่วนประมาณ 48.8% ของคนยากจนในภาคใต้ และเพิ่มขึ้นถึง 23.5% ขณะที่จังหวัดที่เหลือในภาคใต้มีจำนวนคนจนลดลง 10.12%

จังหวัดยากจนเรื้อรัง
ที่มา : สศช.

สำหรับจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 อันดับแรก ในปี 2563 ได้แก่ ปัตตานี แม่ฮ่องสอน นราธิวาส กาฬสินธุ์ ระนอง นครราชสีมา นครพนม ตาก ยะลา ศรีสะเกษ ตามลำดับ โดยเฉพาะปัตตานี มีสัดส่วนคนจนติดอันดับสูงสุด 10 อันดับแรกมาตั้งแต่ปี 2547 ต่อเนื่องถึงปี 2563 หรือตลอดเวลา 17 ปี