ธปท.เปิด 3 ปม เศรษฐกิจไทยโต “กระจุกตัว”

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าฯ ธปท.เปิด 3 ข้อเท็จจริง เศรษฐกิจไทยโต “กระจุกตัว” ไม่ทั่วถึง ชี้เป็นปัจจัยทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนสูง ฉุดรั้งการบริโภค-เศรษฐกิจไทย

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “The Future of Thai Economy and Finance” ว่า อนาคตของเศรษฐกิจและการเงินไทยต้องโตแบบทั่วถึง และต้องไม่ใช่แค่โตไปด้วยคนแค่บางกลุ่มแล้วหวังว่าการเติบโตจะกระจายไปยังกลุ่มที่เหลือ

แต่ตอนนี้ ด้วยปัญหาโครงสร้างที่สะสมมานาน ทำให้การเติบโตแบบทั่วถึงจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เพราะถ้าไม่ทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำมีสูง เศรษฐกิจจะเปราะบาง เราจะไม่มี Growth ให้ไปแชร์ในวงกว้าง และจะไม่สามารถโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

“ผมอยากชวนให้ลองคิดว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าเรายังเน้นไปที่การเติบโตอย่างเดียว แต่ไม่ทั่วถึง เราจะยังสามารถโตได้ดีจริงหรือ”

ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพปัญหาที่ชัด ก่อนที่จะเห็นทางออก ต้องพูดถึง 3 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไม่ทั่วถึงก่อน

โดยข้อเท็จจริงที่ 1 คือ ตระกูลรวยที่สุด 50 อันดับแรกตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes มีทรัพย์สินเท่ากับประชากร 13 ล้านครัวเรือน

“สะท้อนให้เห็น “ช่องว่าง” ระหว่างคนจนและคนรวย ที่เกิดจากการเติบโตของรายได้และความมั่งคั่งเฉพาะในบางกลุ่มมาเป็นเวลานาน”

ข้อเท็จจริงที่ 2 คือ 50% ของกำไรภาคธุรกิจทั้งประเทศ กระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่เพียง 600 รายในตลาดหลักทรัพย์ สะท้อนความได้เปรียบของบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่ปัจจุบัน SMEs ในไทยกว่า 60% ยังไม่ใช้บริการสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน SMEs จึงมีโอกาสน้อยที่จะไล่ตามบริษัทขนาดใหญ่

ข้อเท็จจริงที่ 3 คือ เกือบ 2 ใน 3 ของผลผลิตของเศรษฐกิจโดยรวม กระจุกตัวอยู่เพียง 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดที่ผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม เช่น ชลบุรี ระยอง และจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต แสดงให้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่เพียงบางพื้นที่

“จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ เราคงจะโตไปแบบเดิม ๆ ที่หวังพึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากเพียงบางกลุ่มคน บางกลุ่มธุรกิจ และบางพื้นที่ แบบไม่ทั่วถึงไม่ได้แล้ว เห็นได้จาก 40 ปีที่ผ่านมา ในทศวรรษ 1980 เราเคยโตได้ถึง 10% แต่ในทศวรรษนี้ เราโตเหลือไม่ถึง 4% และจะต่ำกว่านี้อีกในอนาคตถ้าไม่มีการปรับตัว”

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การเติบโตที่ไม่ทั่วถึงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน ล่าสุดเร่งตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 90% ของ GDP โดย 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ และยอดหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เทียบกับ 10 ปีที่แล้ว

หนี้ครัวเรือนที่สูงนี้เป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคของประชาชน หากรายได้ไม่โต ทางเดียว คือ ต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อนำไปใช้จ่าย แต่ด้วยภาระหนี้ที่สูงอยู่เดิม ยิ่งทำให้ก่อหนี้เพิ่มได้ยาก แล้วเศรษฐกิจไทยจะโตต่อไปด้วยความลำบาก