“ดร.ศุภวุฒิ” ส่องปัจจัยเสี่ยงปีหน้า แนะ Unlock ปิดจุดอ่อนประเทศไทย

หลังรัฐบาลเปิดเมือง เปิดประเทศ หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะทยอยฟื้นตัวตามลำดับ แต่ปี 2565 ที่กำลังจะมาถึงยังมีปัจจัยลบและความเสี่ยงอะไรที่ยังต้องระมัดระวังบ้าง

กูรูด้านเศรษฐกิจ “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร บรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ “Thailand 2022 เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก” ในงานสัมมนา “Thailand 2022 Unlock Value ก้าวสู่เส้นทางใหม่ไร้ขีดจำกัด” จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ 1 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ชั้น 5 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

ฟื้นท่องเที่ยวพึ่งคนไทยแทนรอต่างชาติ

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่ไทยกำลังเปิดประเทศ ขณะที่การติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า ถ้ายุโรปไม่ทำอะไรเลยภายในเดือน ก.พ.อาจมีคนเสียชีวิตเพราะโควิด 5 แสนคนขณะที่ประเทศไทยยังมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 50 คน ถือว่ามากกว่าอัตราคนเสียชีวิตบนท้องถนนที่เฉลี่ยวันละ 18 คน

“ตรงนี้เป็นความเสียหายอย่างมาก หากถามว่าจะ unlock ยังไง อันดับแรก คือ อย่าให้คนเสียชีวิตมากขนาดนี้ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ประเด็นสำหรับไทย คือ เรากำลังเปิดประเทศหวังรับนักท่องเที่ยวจากอเมริกาและยุโรปซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเงินเยอะ แต่เขาจะมาหรือเปล่าเพราะติดเชื้อเยอะ แล้วเราอยากจะรับเขาหรือเปล่า อีกประเทศที่เราอยากรับเข้ามา คือ จีน แต่เขาปิดประเทศและคงปิดไปเรื่อย ๆ จนถึงสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า ดังนั้น การฟื้นเศรษฐกิจโดยรอให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาคงไม่ได้มาก อาจต้องพึ่งนักท่องเที่ยวไทยกันเองมากกว่า”

เงินเฟ้อเรื่องใหญ่-สองมหาอำนาจตัวเร่ง

ในแง่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นต่อเนื่อง จะเห็นว่าโควิดกระทบเศรษฐกิจทั้งในแง่อุปสงค์อุปทาน ทำให้การฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้เล็กน้อย มองไปข้างหน้าต้องดูว่ากระทบด้านไหนมากกว่ากัน เพราะจะมีผลต่อการประเมินเงินเฟ้อว่าจะไปในทิศทางไหน เนื่องจากเงินเฟ้อจะเป็นเรื่องใหญ่ในการประเมินเศรษฐกิจถึงกลางปีหน้า เพราะช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย

“ส่วนตัวผมคาดว่าการติดโควิดในช่วงที่เหลือจะกระทบอุปทานมากกว่าอุปสงค์ เนื่องจากคนยังอยากใช้ อยากกิน อยากเที่ยว แต่ภาคการผลิตอาจได้รับผลกระทบมากกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของจีน”

Advertisment

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ปกติช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาจีนเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าและทำให้สินค้าราคาถูกทั่วโลก แต่ตอนนี้จีนปิดประเทศกำลังต่อสู้กับโควิด ต้องการให้ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ การผลิตอาจน้อยกว่าเดิม ส่วนอเมริกาก็มีปัญหาเรื่องอัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำ ล่าสุดตัวเลขบอกว่ามีคนจ้องจะหางานอยู่ประมาณ 7 ล้านคน โดยใน 7 ล้านคนนี้มีคนที่หางานไม่ได้มานานกว่า 27 สัปดาห์แล้ว เนื่องจากทักษะไม่ตรงกับงาน ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจสหรัฐดีขนาดนั้น กลุ่มนี้มีอยู่ 2 ล้านคน ส่วนคนที่อาจจะได้งานมี 5 ล้านคน แต่มีการประกาศจ้างงาน 10 ล้านตำแหน่ง

“2 ประเทศนี้มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันประมาณ 1 ใน 3 ของ GDP โลก ดังนั้น จะทำให้เกิดโมเมนตัมเงินเฟ้อ”

Advertisment

เฟดจ่อขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้งสกัดเงินเฟ้อ

ล่าสุด Bank of America พันธมิตรของธนาคารเกียรตินาคินภัทรประเมินว่า เฟดจะคุมเงินเฟ้ออยู่ในปีหน้า แล้วจะปรับลดลงได้ในปีต่อไป แต่การทำอย่างนั้นได้จะต้องขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้าตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป และ 4 ครั้งในปีต่อไป รวมแล้วต้องขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 7 ครั้ง ถ้าปรับครั้งละ 0.25% คือจะขึ้นดอกเบี้ยเกือบ 2% ปัญหาจะเกิดกับคนที่เป็นลูกหนี้

“หากดอกเบี้ยต้องขึ้นเยอะ ลูกหนี้เหนื่อย ที่อเมริกาคนที่มีหนี้เยอะที่สุดคือรัฐบาล มีหนี้ 125% ของ GDP ดังนั้น รัฐบาลอเมริกาจะเหนื่อยและจะทำให้นโยบายการคลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้มาก”

“หนี้ครัวเรือน-หนี้เอสเอ็มอี” น่าห่วง

สำหรับไทยส่วนที่จะมีปัญหา คือ ครัวเรือน เพราะไทยมีหนี้ครัวเรือนประมาณ 90% ของ GDP ขณะที่เศรษฐกิจไทยค่อนข้างอ่อนแอก่อนโควิดแล้ว ช่วงปี 2559-2562 เศรษฐกิจไทยโตแค่ 3.5% ไม่ค่อยดีนัก เทียบกับศตวรรษก่อนไม่ติด แต่ที่น่าสนใจคือ ตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่บอกการขาดดุลเงินสดของรัฐบาล คือ การยืมเงินในอนาคตมายันเศรษฐกิจซึ่งตัวเลขนี้ปัจจุบันติดลบ จากอดีตเป็นบวก ช่วงปี 2559-2562 พบว่าติดลบ 2.7% ของ GDP ขณะที่ GDP โต 3.5% แปลว่าถ้ารัฐบาลไม่ใส่เงินเลย ดีไม่ดี GDP อาจโตไม่ถึง 1%

“สถานะแบบนี้ปัญหาใหญ่แน่นอน ปีที่แล้วรัฐบาลขาดดุลงบประมาณที่ 6% ของ GDP และ GDP ติดลบ 6% หากรัฐบาลไม่ใส่เงินเลย GDP จะติดลบถึง 12% จะเห็นว่าเป็นสถานการณ์ค่อนข้างลำบากในการที่จะฟื้นเศรษฐกิจช่วงต่อไปข้างหน้า เพราะช่วงที่ผ่านมาเราใช้รัฐบาลเป็นขายันเศรษฐกิจเอาไว้อย่างต่อเนื่อง”

นอกจากหนี้ ครัวเรือนยังมีหนี้เอสเอ็มอีที่น่าห่วง จะเห็นว่าสัดส่วนของหนี้ที่เริ่มจะมีปัญหา (SM) กับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวมกันราว 20% โดยเอสเอ็มอี 1 ใน 5 มีปัญหาเรื่องหนี้ทั้ง ๆ ที่ดอกเบี้ยยังต่ำสุด แต่ปีหน้าดอกเบี้ยจะเริ่มขยับขึ้น ตรงนี้จึงเป็นจุดอ่อน หากจะ unlock ก็ต้องไปปรับโครงสร้างหนี้ให้เอสเอ็มอีสามารถเดินต่อไปได้

หวั่นธนาคารกลางประเมินผิด

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า อีกส่วนที่น่าสนใจ คือ นักเศรษฐศาสตร์กลัวเงินเฟ้อมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเงินเฟ้อสูงกว่าที่เคยคาดเอาไว้ เมื่อเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดต้องถามว่าธนาคารกลางจะตอบสนองอย่างไร ถ้าตอบสนองด้วยความกลัวเศรษฐกิจตกต่ำและไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยแบบทันท่วงที ปัญหาคือ หากธนาคารกลางประเมินสถานการณ์ผิดต้องไปไล่ขึ้นดอกเบี้ยตามทีหลัง จะต้องขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงกว่าที่ Bank of America คาดเอาไว้

ทั้งนี้ มีงานวิจัยจาก Economist Intelligence Unit (EIU) หน่วยงานที่วิเคราะห์ความเสี่ยงของโลก 10 อย่างในปีหน้า ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกระทบรุนแรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คือ เรื่องความสัมพันธ์ของอเมริกากับจีนที่ตกต่ำและรุนแรงอย่างมาก ทำให้อาจเกิดความขัดแย้ง จะส่งผลให้ supply chain พัง ซึ่งจะกระทบภาคการผลิต กระทบเงินเฟ้อ ทำให้ราคาสินค้าต้องเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ หากธนาคารกลางไล่ตามเงินเฟ้อไม่ทันและต้องไปไล่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงทีหลัง จะกระทบตลาดหุ้นอย่างมาก ซึ่งถ้ากระทบต่อหุ้นและกระทบดอกเบี้ย แปลว่าต้นทุนสินค้าจะแพง ซึ่งในภาคการผลิตมี 4 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกคือ ทุน ซึ่งถ้าหุ้นตกจะระดมทุนได้ยากขึ้น และดอกเบี้ยสูง จะกู้เงินได้ยากขึ้น ปัจจัยที่ 2 คือ แรงงาน ดูแล้วก็น่าจะชอร์ต ปัจจัยที่ 3 เทคโนโลยี ซึ่งยังไม่ทราบแน่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปได้เร็วแค่ไหน เพื่อมาทดแทนปัจจัยที่ 1 และ 2 และปัจจัยสุดท้าย ทรัพยากร ได้แก่ ที่ดินหรือน้ำมัน เป็นต้น

“ดูแล้วจากปัจจัยทั้ง 4 ข้อ จะมี 3 ปัจจัยที่ขาดแคลน คือ ทุน แรงงาน และทรัพยากร ดังนั้น ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเกิดขึ้นมีไม่น้อย”

ชี้จุดอ่อนประเทศไทย

ขณะที่ไทยมีจุดอ่อนที่ต้องปรับ โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization : WIPO) เปิดเผยผลการสำรวจและการจัดอันดับการพัฒนาในด้านปัจจัยทางนวัตกรรมของโลก เมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามที่อยู่อันดับ 44 ไทยอยู่ที่อันดับ 43 แต่หากย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้วในปี 2554 ไทยอยู่ที่ 48 เวียดนามอยู่ที่ 51 ต้องบอกว่าตอนนี้เวียดนามหายใจรดต้นคอแล้ว ขณะที่เกาหลีใต้อยู่ที่อันดับ 16 เมื่อ 10 ปีก่อนปี 2564 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 5 ของโลก เพราะสามารถ unlock ได้จริง ๆ

“ส่วนที่ไทยยังอ่อนแอ คือ ด้านสถาบัน (institution) อยู่ที่อันดับ 64 เนื่องจากมีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ทำให้ขับเคลื่อนไม่ได้ ด้านทุนมนุษย์และการวิจัย ไทยอยู่ที่อันดับ 63 ด้านการศึกษา ไทยอยู่ที่อันดับ 86 และด้านโครงสร้างพื้นฐานอันดับ 60 ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่น ๆ ยังถือว่าดี แต่ด้านที่ค่อนข้างแย่คือด้านความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านความคิดสร้างสรรค์ ไทยอยู่อันดับ 55 ของโลก”

ทั้งหมดนี้ผู้กุมนโยบายคงต้องนำไปพิจารณาเพื่อ unlock value ปิดจุดอ่อนของประเทศ