ก.ล.ต.กล่าวโทษผู้บริหาร NMG 4 ราย ตกแต่งบัญชีรายได้บริษัท

สำนักงาน ก.ล.ต.

สำนักงานก.ล.ต. กล่าวโทษผู้บริหาร และอดีตกรรมการและผู้บริหารของบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (NMG) รวม 4 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีทุจริตตกแต่งบัญชีรายได้ของบริษัท  

วันที่ 7 มกราคม 2565  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงการตรวจสอบพบว่า บุคคล 4 ราย ซึ่งขณะเกิดเหตุในช่วงปี 2558 ถึงปี 2560 เป็นกรรมการและผู้บริหารของ NMG ได้แก่ (1) นางสาวดวงกมล โชตะนา (2) นางสาวณัฐวรา แสงวารินทร์ (3) นายสุพจน์ เพียรศิริ และ (4) นายสิริชาย ชนานำ ได้ร่วมกันตัดสินใจ อนุมัติ สั่งการ และดำเนินการให้บันทึกรายได้ค่าโฆษณาที่ไม่มีจริงในงบการเงินของ NMG

ทั้งนี้ จากพยานหลักฐานพบการตกแต่งรายได้และรายได้ค้างรับค่าโฆษณาของ NMG ในงบการเงินปี 2558 ถึงปี 2560 ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่มีอยู่จริงและเรียกเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้จริง โดยบุคคลทั้ง 4 รายดังกล่าว ได้ร่วมกันสั่งการให้มีการบันทึกรายได้ที่ไม่มีอยู่จริงในลักษณะแบ่งหน้าที่กัน

อีกทั้งยังมีการแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขายโฆษณา เพื่อเอื้อให้ฝ่ายขายบันทึกใบจองโฆษณาปลอมเข้าไปในระบบการขายโฆษณา และให้ฝ่ายบัญชีนำใบจองโฆษณาปลอมดังกล่าวมาบันทึกเป็นรายได้และรายได้ค้างรับจำนวน 691 ล้านบาท ซึ่งการกระทำดังกล่าวถูกตรวจพบในปี 2561 โดยบริษัทได้แก้ไขงบการเงินและเปิดเผยผ่านสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วในเดือนสิงหาคม 2561

การกระทำของผู้บริหาร และอดีตกรรมการและผู้บริหาร NMG กับพวก รวม 4 รายข้างต้น* เข้าข่ายเป็นการร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริตทำให้ NMG ได้รับความเสียหายจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

และได้ร่วมกันกระทำการหรือยินยอมให้กระทำการลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของ NMG หรือที่เกี่ยวกับ NMG เพื่อลวงบุคคลใด ๆ ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 4 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัท นับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ

___________________________

หมายเหตุ:

*ปัจจุบัน รายที่ (1) (3) และ (4) ลาออกจาก NMG แล้ว

**ประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560