สธ.เผยผลสำรวจพบคนไทย 35.7% ไม่ยอมตรวจ ATK แม้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง

ATK

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเผยผลสำรวจพบคนไทยร้อยละ 35.7 ไม่ยอมตรวจ ATK แม้ตกเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ร้อยละ 30.5 ชี้กลัวการใช้ ร้อยละ 2.3 ระบุไม่พร้อมตรวจ

วันที่ 12 เมษายน 2565 จากผลการสำรวจการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพของกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 – 12 ระหว่างวันที่ 5 – 31 มีนาคม 2565

มีผู้ตอบสำรวจ จำนวน 113,847 คน อายุเฉลี่ยระหว่าง 25 – 26 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง พบว่า ร้อยละ 35.7 ของประชาชนคนไทยทั่วประเทศมีพฤติกรรม ไม่ตรวจหาโรคโควิด-19 ด้วยชุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ด้วยตนเอง (ATK) หรือไปรับการตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้านเมื่อสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง เช่น มีการสัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือมีอาการ

สอดคล้องกับประเด็นการสำรวจความตระหนักรู้ต่อพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ของประชาชนพบว่า ร้อยละ 30.5 ประชาชนคนไทยมีความรู้สึกกลัวต่อการใช้ ATK ตรวจหาเชื้อโควิด-19 และ ไม่พร้อมที่จะตรวจ ATK แม้รู้ตัวว่ามีความเสี่ยง ร้อยละ 2.3

ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง โดยสังเกตอาการ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ตาแดง ผื่นขึ้น ถ่ายเหลว และแสบคอ ฯลฯ

หรือแม้ว่าจะไม่มีอาการดังกล่าว แต่เป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบใกล้ชิด โดยอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน เรียนหนังสือหรือทำงานด้วยกัน คุยกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยนานเกิน 5 นาที หรือเดินทางไปเที่ยวด้วยกัน รับประทานอาหารร่วมกัน และไม่ตรวจ ATK เพื่อหาเชื้อดังกล่าวย่อมส่งผลเสียต่อตนเอง ซึ่งอาจทำให้มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

รวมทั้งยังเป็นพาหะแพร่กระจายโรค ไปยังครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่อยู่ใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อได้ง่ายจากความเสี่ยงของคนในครอบครัวที่ไม่รับผิดชอบตนเองด้วยการตรวจ ATK ก็จะทำให้คนในครอบครัวเสียชีวิตได้เช่นกัน

ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาทในการแพร่กระจายโรคโควิด-19 ไปยังครอบครัว หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ด้วยตนเอง

โดยเลือกซื้อชุด ตรวจ ATK ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และปฏิบัติตามคู่มือคำแนะนำการใช้งานให้ถูกต้องตามฉลาก เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการตรวจ หรือไปรับบริการตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อตระหนักในการรับผิดชอบต่อครอบครัว และสังคม และเพื่อความปลอดภัยของตนเอง