“กำแพงเพชร” ฟื้นปลูกกล้วยไข่ส่งออกจีน

ภัยธรรมชาติต้นเหตุกล้วยไข่กำแพงเพชรลดฮวบ ปี 2560 จังหวัดเร่งเครื่องปลูก พื้นที่ 3 พันไร่ “คลองขลุง-พรานกระต่าย-คลองลาน” เน้นขายในประเทศ 90% ส่งออก 10% จีน ฮ่องกงฮิตสุด หนุนเกษตรกรรวมตัวปลูกแปลงใหญ่ เร่งทำมาตรฐาน GAP คาดปี 2561 ขึ้นทะเบียน GI เพิ่มมูลค่า

นายสถิตย์ ภูทิพย์ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กล้วยไข่พันธุ์พื้นเมืองเป็นพืชเศรษฐกิจของ จ.กำแพงเพชร จุดเด่นคือ หอม เปลือกบาง หวาน ขนาดลูกเล็ก และเนื้อละเอียด ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 3,029 ไร่ เกษตรกร 504 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีพื้นที่ปลูก 2,762 ไร่ เนื่องจากภาครัฐส่งเสริมเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้น รวมถึงมีโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกจากนาข้าว มันสำปะหลัง มาปลูกกล้วยไข่ โดยส่วนใหญ่ปลูกมากที่ อ.เมือง คลองขลุง พรานกระต่าย และคลองลาน

โดยตลาดในประเทศมีสัดส่วนกว่า 90% แยกเป็น 60-70% มีพ่อค้าประจำมารับซื้อเพื่อนำไปขายต่างจังหวัด ขณะที่ 30% เกษตรกรขายเอง ซึ่งหลัก ๆ คือ ตลาดมอกล้วยไข่ ต.อ่างทอง อ.เมืองกำแพงเพชร ตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 สายกำแพงเพชร-นครสวรรค์ ระยะทาง 1-2 กิโลเมตร รวมถึงมีพ่อค้ามารับซื้อไปขายตามตลาดในจังหวัด สำหรับตลาดต่างประเทศมีเพียง 10% ซึ่งมีพ่อค้ามารับซื้อและส่งออกไปยังจีนและฮ่องกง

เดินหน้าลุย – จังหวัดกำแพงเพชร แหล่งปลูกกล้วยไข่ขนาดใหญ่ของประเทศไทยเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกล้วยไข่พันธุ์พื้นเมือง ซึ่งปีนี้มีพื้นที่กว่า 3 พันไร่ พร้อมพัฒนาสู่มาตรฐาน GAP และแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น


นายสถิตย์กล่าวอีกว่า กล้วยไข่ใช้ระยะเวลาประมาณ 11 เดือน ในการให้ผลผลิต โดยผลผลิตออกสู่ตลาดช่วง ส.ค.-ก.ย.ผลผลิตอยู่ที่ 2,000-2,500 กก./ไร่/ปี ต้นทุนการผลิต 11,000 บาท/ไร่ ปัจจุบันราคากล้วยไข่หน้าสวนอยู่ที่ 11-12 บาท/กก. ลดลงจากปีที่ผ่านมา เพราะมีปริมาณผลผลิตมากขึ้น เนื่องจากมีการปลูกมากขึ้น ซึ่งปี 2559 ราคาหน้าสวนอยู่ที่ 12-14 บาท/กก. ทั้งนี้ ราคาตลาดหรือขายปลีกอยู่ที่ 100-300 บาท/ตั้ง (เครือ) หรือ 30-60 บาท/กก. ขึ้นอยู่ตามคุณภาพ ขณะที่หน่อพันธุ์ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 15-18 บาท/หน่อ มีจังหวัดต่าง ๆ มาซื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคเหนือ

ขณะที่ภัยธรรมชาติยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะลม ซึ่งประสบเป็นประจำ 2 ช่วง คือ ช่วงที่กล้วยไข่กำลังเติบโต ประมาณ เม.ย.-มิ.ย. และช่วงกล้วยไข่กำลังตกเครือ ช่วง ส.ค.-ก.ย. ส่งผลให้ต้นกล้วยหักล้มเสียหาย ซึ่งสะท้อนอย่างเด่นชัดจากเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา จ.กำแพงเพชร มีพื้นที่ปลูกกว่า 3-4 หมื่นไร่ แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 3,000 ไร่ เนื่องจากเกษตรกรหลายรายล้มเลิกกิจการไป

“ปี 2560 ภาครัฐพยายามเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวปลูกเป็นแปลงใหญ่ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP ขณะเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สนับสนุนให้โรงเรียนและวัดปลูกกล้วยไข่ จึงทำให้ปีนี้มีพื้นที่ปลูกมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้กลุ่มแม่บ้านแปรรูปกล้วยไข่เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งปัจจุบันก็มีการแปรรูปบ้างแล้ว เช่น กล้วยฉาบ กล้วยระเบิด และนำไปจำหน่ายที่ตลาดมอกล้วยไข่”

ด้านนางสาวเยาวเรศ แซ่โค้ว พาณิชย์จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ผลผลิตกล้วยไข่สดสร้างรายได้ให้จังหวัดกว่า 53 ล้านบาท ขณะนี้ได้มีการยื่นขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) กล้วยไข่กำแพงเพชรแล้ว อยู่ระหว่างรอประกาศโฆษณา หากไม่มีผู้คัดค้านจะได้ประกาศขึ้นทะเบียน ซึ่งเกษตรกรที่จะใช้สัญลักษณ์ GI ได้ จะต้องมาขึ้นทะเบียนก่อน และมีคณะกรรมการลงไปตรวจสอบ ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก พันธุ์กล้วย จนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งคาดว่าปี 2561 จะได้ประกาศขึ้นทะเบียน

ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไป คือ การวางแผนส่งเสริมการตลาด ขณะนี้บริษัทในเครือท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต สนใจที่จะเอากล้วยไข่กำแพงเพชรไปวางจำหน่าย โดยอยู่ระหว่างการประสานจัดเตรียม เพราะกล้วยไข่กำแพงเพชรเปลือกค่อนข้างบาง จึงต้องมีการควบคุมเรื่องการตัดแต่งไม่ให้กระทบกับผลผลิต นอกจากนี้ อีกตลาดหนึ่งคือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระยาสารทกล้วยไข่ และเครื่องสำอาง