“สินมั่นคงประกันภัย” ธุรกิจกงสี ตระกูล “ดุษฎีสุรพจน์” กว่า 71 ปีอยู่คู่คนไทย จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก พลาดท่าพิษวิกฤตโควิด เคลมท่วม 4.1 หมื่นล้าน ต้องยื่นแผนขอฟื้นฟูกิจการ
วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 กรณีประกันโควิด-19 แบบ “เจอจ่ายจบ” ที่กลายเป็นระเบิดทำให้บริษัทประกันที่ขายกรมธรรม์แบบ “เจอจ่ายจบ” ประสบปัญหาวิกฤตสภาพคล่องจนต้องปิดกิจการไปแล้ว 4 บริษัท คือ บริษัท เอเชียประกันภัย, เดอะวัน ประกันภัย, อาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย
และที่กำลังเป็นประเด็นร้อนขณะนี้ก็คือกรณีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ที่ล่าสุดออกมาชี้แจงว่าบริษัทมีภาระจ่ายเคลมประกันโควิด-19 รวมทั้งสิ้นกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้มีการจ่ายสินไหมไปแล้ว 11,875 ล้านบาท โดยนำเงินจากกำไรสะสมทั้งหมดมาจ่าย และยอดคงค้างที่มีผู้ยื่นเคลมประกันอีกประมาณ 350,000 รายการ คิดเป็นค่าสินไหมประมาณ 30,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีปัญหาสภาพคล่องไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ เคลมให้กับผู้เอาประกันได้ จนต้องยื่นขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
“ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปทำความรู้จัก บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หนึ่งบริษัทประกันภัยที่ก่อตั้งและอยู่คู่คนไทยมาร่วม 71 ปี โดยดำเนินธุรกิจด้านการบริการรับประกันวินาศภัยเป็นหลัก รับประกันวินาศภัย 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันภัยเบ็ดเตล็ด
มีศูนย์บริการ 4 แห่ง สาขาหลัก 63 แห่ง และสาขาย่อยอีก 102 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นบริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันรถยนต์เป็นหลัก และเป็นบริษัทแรกที่ได้รับความไว้วางใจให้จดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2534 ปัจจุบันจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกของบริษัทที่มีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด
เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2494 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 2 ล้านบาท ภายใต้ชื่อ บริษัท บ้วนฮงเซ้งประกันภัย จำกัด และต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น สินมั่นคงประกันภัย โดยได้เพิ่มทุนอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 200 ล้านบาท
ปัจจุบัน นายเรืองวิทย์ ดุษฎีสุรพจน์ นั่งเก้าอี้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ “สินมั่นคงประกันภัย” ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2539 เป็นอีกหนึ่งนักธุรกิจที่มีความสามารถและประสบการณ์จากหลายองค์กร อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา แต่ดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 เดือนก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง
ในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของสินมั่นคงประกันภัย (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์) ปรากฏชื่อ คือ บริษัท ดุษฎีสุรพจน์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจใหญ่ของตระกูล “ดุษฎีสุรพจน์” โดยถือหุ้นจำนวน 50,037,760 หุ้น สัดส่วน 25.02% ส่วนนายเรืองวิทย์ ถือหุ้นลำดับที่ 5 จำนวน 14,885,810 คิดเป็น 7.44%
ด้านแหล่งข่าววงการประกันวินาศภัย กล่าวว่า สินมั่นคงเป็นธุรกิจกงสีของคนจีน ตระกูล “ดุษฎีสุรพจน์” ที่ก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ซึ่งเริ่มทำธุรกิจประกันภัยมาตั้งแต่ต้น และเป็นมรดกตกทอด สู่รุ่นที่ 3 หลังจากพ่อเสีย มาถึงยุครุ่นลูก “เรืองวิทย์ ดุษฎีสุรพจน์” ก็ขึ้นเป็นประธานบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ซึ่ง “เรืองวิทย์ ดุษฎีสุรพจน์” เเป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์ในการบริหารองค์กรหลายแห่ง เช่น เคยเป็นประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน)
แต่เมื่อเจอวิกฤตโควิด บริหารผิดพลาดจนต้องควักกำไรสะสมที่มีมาจ่ายสินไหมไปแล้วกว่า 11,875 ล้านบาท และเคลมในระบบอีกกว่า 30,000 ล้านบาท จนมีปัญหาสภาพคล่องไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ เคลมให้กับผู้เอาประกันได้ จนต้องยื่นขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เหมือนกรณีบริษัทอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัยของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แต่เคสนั้นจะไม่ได้เริ่มต้นทำธุรกิจมาจากศูนย์ เป็นการเทกโอเวอร์ธุรกิจของต่างชาติมา
โดยตอนนี้สินมั่นคงยังมีผู้ถือหุ้นต่างชาติคือ MINDO ASIA INVESTMENTS LIMITED และ EUROCLEAR NOMINEES LIMITED ซึ่งจะเป็นการมาถือหุ้นเฉยๆ ไม่ได้เข้ามาบริหารธุรกิจ ซื้อเก็บไว้เพื่อเป็นการลงทุน เพราะในอดีตสินมั่นคงค่อนข้างจ่ายปันผลสูง ราคาหุ้นก็แข็งมาก
และเมื่อก่อนก็จะมี royal & sun ธุรกิจประกันของอังกฤษ ถือหุ้นอยู่และอยากจะซื้อหุ้น 100% แต่ตอนนั้น ตระกูล “ดุษฎีสุรพจน์” ไม่ได้ขาย จนกระทั่งช่วงหนึ่งเกือบ 20 ปีที่แล้ว royal & sun ได้ขายหุ้นออกไปหมด
ฉะนั้นจากนี้ต้องติดตามว่าจะมีผู้สนใจเพิ่มทุนหรือไม่ เพราะต้องอัดเงินเข้าไป 30,000 ล้านบาท เพื่อเคลียร์หนี้เคลม และยังต้องอัดฉีดอีกประมาณ 4-5 พันล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทต่อไป ส่งผลให้ต้นทุนยิ่งสูงไปอีก
ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้สูงเกินไปที่จะคุ้ม เพราะไม่รู้ว่าอีกกี่ปีจะคืนทุน ปกติธุรกิจประกันภัย จะมี return period ไม่เกิน 7-8 ปี ยังรับได้ แต่ถ้าเกิน 8-10 ปี ไม่น่าจะไหวแล้ว สู้เอาเงินก้อนนี้ไปซื้อธุรกิจอื่นยังจะดีกว่า เพราะน่าจะได้คืนทุนเร็วกว่า