แอร์บัส-สนามบินคันไซ ศึกษาการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนภาคการบิน

แอร์บัส เครื่องบิน ไฮโดรเจน
เครื่องบินต้นแบบของแอร์บัสที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน (แฟ้มภาพจาก "AFP PHOTO / AIRBUS" )

แอร์บัสจับมือสนามบินคันไซ ศึกษาการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในภาคการบิน เชื่อเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจน มีแนวโน้มการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์มากสุด

วันที่ 18 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอร์บัสและสนามบินคันไซ ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยเรื่องการสำรวจการใช้ไฮโดรเจนที่สนามบินทั้ง 3 แห่งในประเทศญี่ปุ่น (ได้แก่ สนามบินนานาชาติคันไซ สนามบินนานาชาติโอซาก้า และสนามบินโกเบ)

จากการเป็นพันธมิตรนี้ แอร์บัสและสนามบินคันไซจะร่วมกันเตรียมแผนรับมือ และกำหนดแผนสนับสนุนเพื่อรองรับความต้องการที่มีต่อก๊าซไฮโดรเจน รวมถึงศึกษาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้ไฮโดรเจนในภาคการบิน

แอร์บัส คันไซ ไฮโดรเจน
แอร์บัสจับมือสนามบินคันไซ ศึกษาการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในภาคการบิน

รายงานระบุว่า แอร์บัสจะนำเสนอคุณลักษณะด้านการใช้พลังงานของฝูงบิน และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเครื่องบินที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนสำหรับการปฏิบัติงานภาคพื้นดิน สนามบินคันไซจะศึกษาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเปิดตัวเครื่องบินที่ใช้ไฮโดรเจน

นายโยชิยูกิ ยามายะ ผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของท่าอากาศยานคันไซ กล่าวว่า เราตั้งเป้าที่จะลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนสุทธิภายในสนามบินทั้ง 3 แห่งที่เราดำเนินการอยู่ให้เป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2593

นายสเตฟาน ชีโนซ์ (Stéphane Ginoux) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียเหนือของแอร์บัสและประธานแอร์บัส ญี่ปุ่น กล่าวว่า ไฮโดรเจนเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์มากที่สุด เพราะเป็นก๊าซที่ผลิตขึ้นจากพลังงานหมุนเวียนและไม่ปล่อยมลพิษ ไฮโดรเจนที่นำกลับมาใช้ใหม่นั้นไม่ได้แค่ช่วยกำจัดก๊าซคาร์บอนแต่ในเครื่องบินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการขนส่งภาคพื้นดินที่เกี่ยวข้องกับสนามบินทั้งหมดเช่นกัน

ทั้งนี้ แอร์บัสได้ทำงานร่วมกับสนามบินหลายแห่งทั่วโลก และ สนามบินคันไซนับเป็นผู้ให้บริการสนามบินในญี่ปุ่นรายแรก ๆ ที่แอร์บัสได้ร่วมลงนามใน MoU ด้วย