จีดีพีจีนไตรมาส 2 พลาดเป้า โตเพียง 0.4% โดยรวมยังซบเซา

เศรษฐกิจ อสังหา จีน
REUTERS/Thomas Peter

เศรษฐกิจจีนพลาดเป้า ไตรมาส 2 โตเพียง 0.4% ผิดคาดนักวิเคราะห์ประเมินก่อนหน้าคาดโต 1% ภาคอสังหา ลงทุนลด เซี่ยงไฮ้จีดีพีทรุด 13.7% เหตุล็อกดาวน์คุมโควิด

วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ซีเอ็นบีซี รายงานว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2/2565 ขยายตัวลดเป้าหมาย ขณะที่เศรษฐกิจยังต้องรับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ โพลล์ของรอยเตอร์ชี้ว่า คาดการณ์จีดีพีจีนไตรมาส 2/2565 จะเติบโตที่ 1%

ตามรายงานของจีน ระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายนไม่เป็นไปตามคาด โดยเพิ่มขึ้น 3.9% จากปีที่แล้ว เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.1%

ส่วนยอดค้าปลีกในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 3.1% ฟื้นตัวจากการตกต่ำครั้งก่อนและเหนือความคาดหมายก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะไม่เติบโตจากปีก่อนหน้า แต่เนื่อจากบริษัทอี คอมเมิร์ซรายใหญ่จัดเทศกาลช้อปปิ้งเพื่อส่งเสริมการขายในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งช่วยกระตุ้นยอดค้าปลีก

นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกในเดือนมิถุนายนได้เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายในหลายหมวด เช่น รถยนต์ เครื่องสำอาง และยา แต่การจัดเลี้ยง เฟอร์นิเจอร์ และวัสดุก่อสร้างลดลง ในตัวเลขดังกล่าว ยังพบว่า ยอดขายออนไลน์ของสินค้าที่จับต้องได้เพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็ยังน้อยกว่าการเติบโต 14% ในเดือนก่อนหน้า

ลงทุนภาคอสังหาครึ่งปีแรก ลดลง 5.4%

สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วงครึ่งปีแรก นับว่าเหนือความคาดหมาย โดยเพิ่มขึ้น 6.1% เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ 6% อีกทั้งภาพรวมก็เพิ่มขึ้นทุกเดือน

ขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการผลิตยังคงรักษาอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงหรือดีขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน

แต่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ในครึ่งปีแรกลดลง 5.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแย่กว่าการลดลง 4% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

สำหรับการว่างงานใน 31 เมืองใหญ่ของจีนลดลงจากระดับสูงสุดก่อนเกิดโรคระบาดเป็น 5.8% ในเดือนมิถุนายน ส่วนการว่างงานในกลุ่มอายุ 16-24 ปี เพิ่มขึ้นอีกเป็น 19.3%

ทางการจีน ย้ำโควิดส่งผลกระทบเศรษฐกิจระยะสั้น

สำนักงานสถิติเเห่งชาติของจีน อธิบายถึงตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดว่าเป็น ‘รางวัลที่ได้มายากยิ่ง’ แต่ก็ยังเตือนถึงผลกระทบที่น่ากลัวของโควิดเเละความต้องการกำลังซื้อที่ลดลง และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ (Stagflation) ในเศรษฐกิจโลก พร้อมกับนโยบายทางการเงินของต่างประเทศที่เข้มงวดขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายฟู่ หลิงฮุ่ย โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนได้กล่าวในงานเเถลงข่าวในวันนี้ (15 ก.ค.) ว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองนั้นยังคงชะงักไปในทางที่ต่ำลง และผลกระทบของโควิดจะส่งผลเพียงเเต่ในระยะสั้น โดยอ้างถึงตัวเลขเงินเฟ้อของจีนที่ยังคงต่ำกว่าของสหรัฐฯ เเละยุโรปอยู่มาก

นายฟู่ยังเสริมด้วยว่ายังมีความท้าทายอีกมากมายในการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจของปีนี้

ในช่วงไตรมาสที่ 2 นั้น จีนเเผ่นดินใหญ่ได้เผชิญกับการเเพร่ระบาดของโควิดที่เเย่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงพีกตอนต้นปี 2563 ส่วนคำสั่งกักบริเวณที่เข้มงวดกว่า 2 เดือนในเซี่ยงไฮ้และมาตราการห้ามเดินทางก็ส่งผลกระทบให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

แม้ว่าในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่งเเละภูมิภาคอื่นของประเทศจีนจะเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติได้ จากการที่รัฐบาลกลางได้ลดระยะเวลากักตัวและผ่อนคลายมาตรการโควิดลง แต่ในหลายที่ของประเทศจีนยังคงต้องรื้อฟื้นมาตรการขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เนื่องมาจากตัวเลขการติดเชื้อที่กลับมาพุ่งสูงขึ้น

เศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้หดตัวสูงสุด

ซีเอ็นเอ รายงานว่า เศรษฐกิจของสองเมืองใหญ่ ทั้งเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งหดตัวลงในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดที่เข้มงวดภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) เผยว่า เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจีน รวมถึงในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง เดือนเมษายน-มิถุนายน ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยการล็อกดาวน์เมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม ส่งผลให้ จีดีพีของเซี่ยงไฮ้หดตัวลง 13.7% ในไตรมาส2 สูงสุดในระดับมณฑล

จากมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเมืองเอกหลายเมืองในจีน จากการที่ธุรกิจส่วนใหญ่ปิดตัวลง เซี่ยงไฮ้มีอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 12.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในบรรดาภูมิภาคระดับมณฑลทั้งหมด และมีค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ 5.8% ของจีน

ส่วนเศรษฐกิจในปักกิ่งร่วงลง 2.9% เนื่องจากโรงยิม ร้านอาหาร และระบบขนส่งสาธารณะบางส่วนปิดให้บริการในช่วงไตรมาสดังกล่าว

ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมของมณฑลเจียงซู แหล่งอุตสาหกรรมอันดับสองของจีน หดตัวลง 1.1% ในไตรมาสนี้

รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) หดตัวลง 2.5% และ มณฑลจี๋หลิน ทางตะวันออกเฉียงเหนือเศรษฐกิจหดตัว 4.5% ในไตรมาสที่สอง


เคน เฉิง หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ Asian FX ประจำธนาคารมิซูโฮ มองว่า หลังจากจีนคลายมาตรการล็อกดาวน์ประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง หวังว่าเศรษฐกิจในจีนจะฟื้นตัวมากขึ้น และน่าจะบรรลุเป้าหมายการเติบโตของประเทศที่ประมาณ 5.5%