ปัดฝุ่นต่างชาติซื้อที่ดิน

ที่ดิน
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่รัฐบาลเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาถือครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย แต่หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย สามารถเป็นเจ้าของที่ดินในประเทศไทยได้ 1 ไร่ โดยที่ดินใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น และสามารถโอนให้ลูกหลานได้

กรณีนี้เคยเป็นนโยบายมาตั้งแต่สมัย “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2545 ที่ต้องการดูดเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทย ที่กำลังย่ำแย่จาก “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องนานหลายปี รวมถึงดึงผู้มีความสามารถเข้าประเทศ

แต่ครานั้นด้วยวิกฤตที่ลามไปทั่วโลก บวกกับเงื่อนไขและขั้นตอนต่าง ๆ ไม่เอื้อเท่าที่ควร ทำให้ชาวต่างชาติสนใจไม่มากนัก จนมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ตัดสินใจปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมาอีกครา ด้วยหวังเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ

นโยบายดูดเงินต่างชาติครานี้มุ่งเป้าหมาย 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วยผู้มีความมั่งคั่งสูง, ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ, กลุ่มต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ จำนวนเงินลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใดไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

พร้อมกันนี้ขีดวงพื้นที่อยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ หลัก ๆ น่าจะเป็น ชลบุรี พัทยา ภูเก็ต หัวหิน เชียงใหม่ ฯลฯ พร้อมแนบเงื่อนไขเบื้องต้นห้ามขายต่อเพราะเกรงว่าจะเกิดเก็งกำไร โดยมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าน่าจะมีผลในช่วงปี 2566

หากมองในแง่เศรษฐกิจแล้วร่างกฎกระทรวงดังกล่าว หากประสบความสำเร็จน่าจะดึงดูดเม็ดเงินมาได้ไม่น้อย จากการประเมินของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ หากในเวลา 5 ปี มีชาวต่างชาติเข้ามา 1 ล้านคน อาศัยอยู่ 10 ปี น่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาเฉลี่ย 80 ล้านล้านบาท

แบ่งเป็น ลงทุนตามเงื่อนไข 40 ล้านบาท ซื้อบ้าน หรือที่ดิน 20 ล้านบาท และใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอีกปีละ 2 ล้านบาท ยิ่งหากเปิดให้ซื้อบ้านจัดสรรได้ เช่นเดียวกับการซื้อคอนโดมิเนียม ยิ่งเป็นผลบวกในภาพรวม

กระนั้นภาคเอกชนยังห่วงเรื่องเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งเสนอแนะข้อมูลต่าง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจกระทบกับคนไทย อาทิ เก็งกำไรในหมู่คนไทยจนกลายเป็นฟองสบู่ หรือทำให้ราคาบ้าน-ที่ดิน แพงผิดปกติ จึงควรวางกรอบให้ชัดเจน

เช่น กำหนดราคาซื้อขั้นต่ำ 10 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นเพดานราคาที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว เป็นต้น จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานเกี่ยวข้องควรพิจารณาอย่างรอบด้าน