เส้นทางหมดอำนาจ รัฐบาลประยุทธ์ สมัยที่ 2

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แฟ้มภาพ : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ ประชาชาติ

ข่าววงในที่ทุกพรรคอินไซด์ข้อมูลตรงกัน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เตรียมยุบสภากลางเดือนมีนาคม 2566

ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ในกรณียุบสภา รัฐบาลจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน และไม่เกิน 60 วัน

ตามลายแทงการเมือง นายกฯทุบโต๊ะยุบสภา บนสมมุติฐานในวันที่ 15 มีนาคม จะต้องทอดเวลาไว้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งใน 5 วัน วันที่คาดว่าเป็นวันสุดท้าย คือ 22 มีนาคม

จากนั้นจะเป็นกระบวนการขั้นตอนเปิดรับสมัครเลือกตั้ง-เปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ พรรคการเมืองต่างชุลมุนหาเสียง

เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดเวลาเลือกตั้งไว้ว่า หากเป็นกรณียุบสภาต้องจัดการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน

วันเลือกตั้งถ้าอยู่ในกรอบ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถจัดการเลือกตั้งได้ 3 วัน คือ วันที่ 7, 14, 21 พฤษภาคม ไม่เกินนี้

แหล่งข่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เล่าเหตุการณ์การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา บอกว่ารองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ไล่ไทม์ไลน์ กกต.-คาดคะเนว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์สมัยที่ 2 จะอยู่ได้ถึงเดือนสิงหาคม กว่าจะมีรัฐบาลใหม่

หากถอดรหัสไทม์ไลน์ตามนั้น จะพบที่มา-ที่ไป

เพราะทันทีที่หีบเลือกตั้งถูกปิดลง มีการนับคะแนน รายงานผลคะแนนใครแพ้-ใครชนะ ขั้นตอนหลังจากนั้นคือการ “ประกาศผลการเลือกตั้ง”

รัฐธรรมนูญมาตรา 85 บังคับไว้ว่า ภายใน 60 วันหลังจากเลือกตั้ง กกต.ต้องประกาศผลเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ในกรณีที่เชื่อว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งต่าง ๆ เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ขึ้นอยู่กับ กกต.จะใช้เวลามาก-น้อย ในการพิจารณาให้ใบเหลือง-ใบแดง-ใบดำ-ใบส้ม

หาก กกต.ตรวจสอบไม่ทันก็ต้อง “ปล่อยผี” เข้าสภาไปก่อน แล้วค่อย “สอยทีหลัง”

ระหว่างนั้น เป็นช่วงเวลาที่พรรคการเมืองจะต่อรองฟอร์มรัฐบาล-แบ่งเค้กการเมืองกันอย่างอุตลุด

ในระหว่างนั้นรัฐสภาจะต้องเรียกประชุมครั้งแรกภายใน 15 วัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 121 ที่กำหนดให้ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้ ส.ส.ได้มาประชุมเป็นครั้งแรก

กระนั้น กระบวนการแย่งชิงเก้าอี้นายกฯ อาจจะตกลงกันได้แล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 จะเป็นนายกฯคนเก่าดำรงตำแหน่งนายกฯสมัยที่ 3 หรือมีนายกฯใหม่ คนที่ 30 ก็จะต้องเฟ้นนายกฯกันตามขั้นตอนนี้ แต่จะใช้เวลาเท่าไหร่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด

เมื่อได้ชื่อนายกฯแล้ว จะต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และกว่ารัฐบาลจะทำงานได้ ต่อเมื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ

ดังนั้น หากนับวันหลังเลือกตั้ง ไม่ว่าวันที่ 7 วันที่ 14 วันที่ 21 พฤษภาคม ยังต้องนับเวลาต่อไปอีกอย่างน้อย 2-3 เดือน


เส้นทางหมดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์สมัยที่ 2 จะอยู่ที่เดือนสิงหาคม 2566 ส่วนจะได้เป็นนายกฯสมัยที่ 3 หรือไม่ ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน