ศุภวุฒิ สายเชื้อ ชี้ช่อง Remake เศรษฐกิจไทย ฝ่า 3 ปัจจัยเสี่ยง

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

“ดร.ศุภวุฒิ” ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ชี้ช่องแนวทางรีเมกเศรษฐกิจไทย เปิด 3 จุดเสี่ยง “ดอกเบี้ย-นวัตกรรม-ความเหลื่อมล้ำ” ห่วงปี’66 ส่งออกโตช้า-เงินทุนไหลออก กระทบค่าเงินบาทอ่อน

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัย กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ The Great Remake เศรษฐกิจไทย ในงานสัมมนา ‘THAILAND 2023 THE GREAT REMAKE เศรษฐกิจไทย’ จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า สิ่งที่ท้าทายเศรษฐกิจไทยมีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ดอกเบี้ย 2.นวัตกรรม และ 3.ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนหรือจุดเสี่ยง

สำหรับเรื่องดอกเบี้ยนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังต้องการลดความร้อนแรงของภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ โดยมีความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งเป็นความเสี่ยงหลักในการมองภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลก

ส่วนประเทศไทยมองว่ามีความเสี่ยง 2 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย 1.เมื่อเศรษฐกิจโลกกำลังจะชะลอตัว เมื่ออเมริกาขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งในปีนี้ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 3% และจะปรับขึ้นอีก 2% ตามที่ตลาดคาดการณ์ ฉะนั้น ในปี 2566 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของอเมริกาจะอยู่ที่ 5%

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

“ตอนนี้เราเริ่มเห็นการชะลอตัวของการส่งออกไทย จากไตรมาส 1 ของปีนี้ จนมาถึงตอนนี้ลดลงไปกว่าครึ่งแล้ว ขณะที่การนำเข้าโดยรวมยังไม่ลดลง แต่หากตัดเรื่องการนำเข้าพลังงานออกไป การนำเข้าก็หายไปกว่าครึ่งเช่นเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าอนาคตการส่งออกจะชะลอตัวลง เพราะในกรณีการนำเข้า 30-40% เป็นการนำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก จึงต้องติดตามว่าการส่งออกจะโตช้าลง หรือไม่โตเลยในปี 2566”

ขณะที่เรื่องนวัตกรรมนั้น อยากให้รัฐตระหนัก และขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น ส่วนความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยยังถือว่าค่อนข้างสูง โดยในปี 2015 ความยากจนไทยลดลง และเพิ่มขึ้นมาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ฉะนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะถือเป็นจุดอ่อนที่สุด

ทั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจไทย ผมมองว่าประกอบด้วย DEG ได้แก่ Democracy (ประชาธิปไตย), Environment (สิ่งแวดล้อม) และ Geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์) ซึ่งหากต้องการ GREAT REMAKE เศรษฐกิจไทยจะต้องทำอย่างไรนั้น อาจจะต้องลดการผลิตสินค้าที่จะถูกตำหนิว่าจะทำลายสภาพแวดล้อม แล้วมาเพิ่มบริการต่าง ๆ ที่มีแต่จะดีกับสิ่งแวดล้อมและตัวเราเอง เป็น Wellness Economy การดึงดูดคนเก่ง และพัฒนาทักษะความสามารถ เพื่อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น