คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์
ช่วงสงกรานต์ถือเป็นช่วงที่ผลผลิตทุเรียนพีก หรือออกมากที่สุด โดยปีนี้ประเทศไทยสามารถส่งออกทุเรียนไปตลาดจีนได้ถึง 800-900 ตู้ต่อวัน และคาดว่าจะทะลุระดับ 1,000 ตู้ ในอีกไม่กี่วัน
“ทุเรียน” ทำให้หลายคนร่ำรวยกลายเป็นเศรษฐี และอีกหลายคนกำลังใฝ่ฝันจะเป็นเศรษฐีหน้าใหม่
แต่อย่าลืมว่า หลังโควิด-19 วันนี้รูปแบบการค้าทุเรียน มีปัจจัยแวดล้อม หลายอย่างเปลี่ยนไปมาก
มีประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม และฟิลิปปินส์ได้รับอนุญาตให้ส่ง “ทุเรียนสด” เข้าตลาดหลักจีนได้
นอกจากนี้ ฤดูกาลออกผลผลิตของทุเรียนเวียดนามชนกับทุเรียนไทย ทั้งทุเรียนภาคตะวันออกและภาคใต้
ดังนั้น การทำสวนทุเรียน การค้าขาย ทำธุรกิจส่งออกทุเรียนไม่ได้ง่ายอย่างในอดีต ทุกอย่างต้องทำอย่างมีคุณภาพ ใส่ใจทุกรายละเอียด
ยิ่งบรรดาพ่อค้าแม่ค้าหัวใสที่ชอบเล่นตุกติก โดยเฉพาะการยัดไส้ “ทุเรียนอ่อน” ผสมปนเปส่งออกไป หรือหลอกขายผู้บริโภคภายในประเทศ ไม่ใช่จะอยู่ยั่งยืนได้เหมือนในอดีต
ยกตัวอย่างกรณีช่วงก่อนสงกรานต์ที่ตรวจพบการส่งออกทุเรียนหมอนทอง ที่ยังอ่อน ไปประเทศจีน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ พบเป็นของล้งรายหนึ่งแถว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ซึ่งเจ้าของล้งยอมรับ และให้เหตุผลว่า เกิดความผิดพลาดจากคนคัดทุเรียน
แต่ความมักง่าย เห็นแก่ได้ของผู้ประกอบการบางคนยังมีให้เห็นทุกวัน อย่างที่ “ชลธี นุ่มหนู” อดีต ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (สวพ.6) ซึ่งแม้จะหลุดพ้นจากตำแหน่ง แต่ได้มาเป็นแกนนำเครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย/ผู้ก่อตั้งองค์กรเครือข่ายทุเรียนไทย สะท้อนผ่านเพจไว้ว่า “ความด้อยคุณภาพของทุเรียนไทยในสงครามทุเรียนโลก” เป็นสิ่งที่ต้องระวัง
“อดีต ผอ.ชลธี” บอกว่า ยังพบเห็น คนเร่งตัดทุเรียนอ่อน เร่งเก็บมังคุดเขียว เงาะก็ฉีดเร่งสี ไม่สนใจคุณภาพ ขอให้ได้เงินไว้ก่อน
ขณะที่เคยมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศอิสราเอล เห็นมะเขือม่วงแปลงใหญ่ มีลูกเต็มต้นสวยงาม แต่เกษตรกรที่อิสราเอลกำลังเตรียมไถทิ้ง เพราะเหตุว่าผลผลิตไม่มีคุณภาพ
เห็นแครอตเต็มรถเทรลเลอร์กำลังถูกนำไปทำปุ๋ยเพราะมีคุณภาพต่ำ
แต่ประเทศไทยยังขายเงาะคัดทิ้ง ด้วยเหตุผลว่าเพื่อเป็นค่าเหล้า ค่ากับข้าว ไม่สนใจว่าจะเป็นเหตุให้ราคาเงาะตกต่ำ
ยังมีการซื้อขายทุเรียนลมอย่างเสรี ทั้งที่รู้ว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ ไม่สนใจว่าสุดท้ายแล้วก็กลับมาทำลายตลาดทุเรียนของประเทศไทยเอง
“ทั้งที่วันนี้การเกษตรบ้านเราพัฒนาก้าวหน้าไปมาก เกษตรกรไทยมีความสามารถในการสร้างผลผลิตที่ดี แต่ก็ต้องมาตายตอนจบทุกที เพราะต่างเร่งเก็บเกี่ยว ความพยายามที่จะเป็น ‘มหานครผลไม้’ คงห่างไกล” ชลธีกล่าว
ขณะที่การค้าขายทุเรียนในโลกออนไลน์ ยังเห็นการหลอกขายทุเรียนอ่อนกันอยู่เนือง ๆ ในราคาแพง เรียกว่าไปเหมาทุเรียนที่ผู้ส่งออกคัดทิ้งมาขายกันกระหึ่มในโลกออนไลน์ ดังนั้น ต้องฝากการบ้านถึงรัฐบาลชุดใหม่ และข้าราชการที่รับผิดชอบในการออกกฎหมายมาควบคุม “ทุเรียนอ่อน” ให้ชัดเจน ก่อนไทยจะสูญเสียตลาด