บทบรรณาธิการ : เข้าสู่ฤดูระบาดใหญ่ของโควิด-19

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ฤดูกาลระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว จากการรายงานของกรมควบคุมโรคล่าสุด ณ สัปดาห์ที่ 14-20 พฤษภาคม 2566 ปรากฏจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ที่ 2,632 คน หรือเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 376 คน รวมยอดสะสม 15,069 คน

มีผู้เสียชีวิตรายใหม่อยู่ที่ 64 คน หรือเฉลี่ย 9 คนต่อวัน รวมยอดสะสมผู้เสียชีวิต 384 คน โดยเส้นกราฟที่แสดงจำนวนผู้ป่วยและจำนวนผู้เสียชีวิตกำลังพุ่งชันขึ้น เมื่อเทียบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ช่วงก่อนหน้าเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

สอดคล้องกับการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข กับสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำ ที่ออกมาเตือนโดยตลอดว่า หลังเทศกาลสงกรานต์ที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนจำนวนมหาศาล ประกอบกับช่วงเปิดเทอมของนักเรียนและนักศึกษา และการเข้าสู่ช่วงฤดูฝน การระบาดของโควิด-19 ซึ่งในขณะนี้ได้ถูกจัดให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ก็จะกลับมาอีก

มีรายงานจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มออกมาให้เห็นภาพผู้ป่วยจำนวนมากที่เดินทางเข้ามารักษาอาการเจ็บป่วยจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกิดความกังวลกันขึ้นมาว่า ยอดผู้ป่วยอาการหนักสะสมรวมกันเริ่มเข้าใกล้แนวรับศักยภาพตึงมือของแต่ละโรงพยาบาลแล้ว รวมถึงยอดผู้เสียชีวิตก็ใกล้จะถึงแนวรับที่ 10 คนต่อวันเช่นกัน

หลายโรงพยาบาลเริ่มที่จะนำมาตรการควบคุมโควิด-19 ในโรงพยาบาลกลับมาใช้อีก อาทิ การกลับมาเปิดวอร์ดโควิด การบริหารจัดการจำนวนผู้ป่วยนอกที่จะเดินทางเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยการใช้ระบบเทเลเมดิซีน การแยกผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ออกจากผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ รวมไปถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อแยกผู้ป่วยและผู้มาติดต่ออย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น

แม้ว่าโควิด-19 จะถูกจัดให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ด้วยอาการของโรคไม่ได้รุนแรงเหมือนกับช่วงการระบาดใหญ่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่โรคนี้ยังอันตรายสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคร้ายแรง และยังมีผลต่อความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศเมื่อเกิดปรากฏการณ์จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักทะลักเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น

ดังนั้นเพื่อให้ระบบสาธารณสุขของประเทศสามารถรับมือกับการระบาดของโควิด-19 รอบนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นที่คนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันระมัดระวังการติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันของกลุ่มคนจำนวนมากในที่สาธารณะ

ทั้งการจัดกิจกรรมการรวมตัวกันทางการเมือง การสวมใส่หน้ากากอนามัย ความรับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น รวมไปถึงการรณรงค์ให้กลับมาฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคด้วย