ทั่วโลกจับตาโควิดสายพันธุ์ใหม่ FU.1

ผู้ป่วยติดโควิด
ภาพจาก Freepik

ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประสานความร่วมมือเฝ้าติดตามโควิด-19 สายพันธุ์ FU.1 หลังพบเติบโต-แพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1.16 ถึง 50% แต่ความรุนแรงยังไม่ชัดเจน

วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่า โควิด-19 ตระกูลโอมิครอนยังมีการกลายพันธุ์แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ที่เด่นชัดมี 3 กลุ่มคือ

  • โอมิครอน XBB.1.5 นามแฝงคือ คราเคน (Kraken) มาจากชื่อปลาหมึกยักษ์ในเทพนิยาย
  • โอมิครอน XBB.1.16 นามแฝงคือ อาร์คทูรัส (Arcturus) มาจากชื่อดาวฤกษ์
  • โอมิครอน XBB.1.9.1 นามแฝงคือ ไฮเปอเรี่ยน (Hyperion) มาจากชื่อเทพเจ้าแห่งแสงสว่าง

โดยกลุ่มโอมิครอน XBB.1.5* ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ประเมินว่าจะถูกแทนที่โดยกลุ่ม XBB.1.16* และ XBB.1.9.1* ที่พบระบาดมากที่สุดในอินเดีย และกระจายไปทั่วโลก

จับตาสายพันธุ์ใหม่แพร่เร็วขึ้น 50%

อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ย่อยในกลุ่มโอมิครอน XBB.1.16* โดยเฉพาะ “FU.1 (XBB.1.16.1.1)” ถือได้ว่าเป็น “รุ่นหลาน” ของ XBB.1.16 พบการระบาดมากในนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกได้ประสานความร่วมมือให้ช่วยกันเฝ้าติดตาม เนื่องจากมีค่าความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1.16 ถึง 50%

โดยขณะนี้ทั่วโลกพบโอมิครอน XBB.1.16.1.1 (T3802C) นามแฝง FU.1 จำนวน 122 ราย และพบในไทย 2 ราย ส่วนโอมิครอน XBB.1.16.1.2 (C8692T) : นามแฝง FU.2 ทั่วโลกพบ 149 ราย ประเทศไทยยังไม่พบ

ขณะที่กลุ่มโอมิครอน XBB.1.16* “รุ่นลูก” คือ “XBB.1.16.1” พบการแพร่ระบาดในสวีเดน โดยมีโอมิครอนกลุ่ม “XBB.1.9.1” และรุ่นลูกและรุ่นหลาน “FL*” กลายพันธุ์แพร่ระบาดตามมาติด ๆ คาดว่าอาจเข้ามาแทนที่กลุ่ม XBB.1.16* ในอนาคต

สายพันธุ์ XBB ยังยึดไทย

สำหรับในไทย จากการเก็บตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อในประเทศและข้อมูลรหัสพันธุกรรมจากฐานข้อมูลโควิดโลกหรือจีเสส (GISAID) ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา (15 เม.ย.-15 พ.ค. 2566) พบโอมิครอนสายพันธุ์หลักในประเทศไทยเป็นกลุ่ม XBB* ประมาณ 93.5% ประกอบด้วยสายพันธุ์ย่อยอันดับหนึ่งคือ XBB.1.16* ประมาณ 19% อันดับสองเป็น XBB.1.5* ประมาณ 10% และอันดับสามเป็น XBB.1.9.1* ประมาณ 8.4%