“วัฒนธรรมแยกขยะ” คู่มือพลเมืองญี่ปุ่น

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ปัญหา “ขยะ” ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคบริโภคนิยม ยุคแห่งความสะดวกสบายที่ยิ่งก่อให้เกิดขยะต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย

จากที่ผ่านบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมการแยกขยะของประเทศญี่ปุ่น นับเป็นเรื่องน่าทึ่งและน่าลอกเลียนแบบอย่างยิ่ง แม้ว่าจะไม่สามารถทำตามได้ทั้งหมด แต่ก็หวังว่าจะมีภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่อง “ขยะ” แบบครบวงจรอย่างจริงจัง แม้จะทำได้แค่เพียงเสี้ยวของญี่ปุ่น ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการปัญหาขยะของไทยมีประสิทธิภาพขึ้นได้

เรื่องการทิ้งขยะ แยกขยะ ถือเป็นวัฒนธรรมของพลเมืองญี่ปุ่นที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หรือแม้กระทั่งชาวต่างชาติที่จะไปใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น เพราะแต่ละเมืองในญี่ปุ่นจะมีการจัดทำ “คู่มือพลเมือง” แนะนำวิธีการใช้ชีวิต ตั้งแต่การรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เพลิงไหม้  ป่วยกะทันหัน หรืออาชญากรรม

รวมถึงการใช้ชีวิต การหาซื้อบ้าน วิธีการขอน้ำประปา ขอใช้ไฟฟ้า มารยาทในการเข้าสังคม การคบเพื่อนบ้าน ฯลฯ

และหนึ่งใน “คู่มือพลเมืองญี่ปุ่น” ที่น่าสนใจคือ “วิธีการทิ้งขยะ”

เพราะประเทศญี่ปุ่นเน้นการรีไซเคิลขยะ เพื่อลดปริมาณขยะ และบริหารจัดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด

โดยคู่มือมีรายละเอียด แนะนำการแยกประเภทขยะ เป็นขยะเผาได้ ขยะเผาไม่ได้ หนังสือพิมพ์เก่า นิตยสารเก่า กระป๋องเปล่า และขวดพลาสติก หรือวิธีทิ้งขยะอื่น ๆ เช่น การทิ้งแบตเตอรี่ ต้องใช้เทคนิคพิเศษในการจัดการ ต้องทิ้งในกล่องรับคืนในร้านที่ซื้อ

ส่วนการทิ้งเครื่องเรือนขยะชิ้นใหญ่ ต้องแจ้งสำนักงานเทศบาลให้มาเก็บ และบางเทศบาลก็เก็บค่าธรรมเนียมในการทิ้งขยะชิ้นใหญ่ด้วย

ไม่รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่อย่างเครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ที่จะต้องให้ร้านที่ขายสินค้าเหล่านี้จัดเก็บไป พร้อมจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับร้านค้าที่ขนไป เพื่อส่งต่อให้บริษัทผู้ผลิตซึ่งจะเป็นผู้ทำการรีไซเคิล

และการแยกขยะจะสัมฤทธิผลนั้น ต้องจัดการแยกขยะแบบครบวงจร เมื่อประชาชนแยกขยะ หน่วยงานทางการก็ต้องแยกการจัดเก็บด้วยเช่นกัน

ดังนั้นรถเก็บขยะของญี่ปุ่นก็จะแยกตามประเภทขยะ เช่น รถเก็บขยะเปียก ขยะเผาไหม้ รถเก็บขยะพลาสติก รถเก็บขยะกระดาษ หรือรถเก็บขยะรีไซเคิล พวกขวดน้ำ ซึ่งรถแต่ละคันไว้เก็บขยะแต่ละประเภท

ข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดการทิ้งขยะในญี่ปุ่น คือ ไม่ทิ้งขยะนอกเหนือวันที่กำหนด, ไม่ทิ้งขยะนอกสถานที่กำหนด และไม่แยกขยะก่อนทิ้ง

เช่นที่เมืองคาวาซากิ ที่มีชื่อเสียงว่าเคร่งครัดในการแยกขยะอย่างมาก กำหนดให้วันจันทร์ พุธ ศุกร์ เป็นวันทิ้งขยะสด

วันอังคารทิ้งขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง แถมก่อนทิ้งต้องนำเอาฉลากออก ทั้งต้องล้างขวดให้พอสะอาด

วันพฤหัสบดีทิ้งขยะพลาสติกต่าง ๆ เช่น กล่องข้าว ถาดใส่อาหารต่าง ๆ โดยต้องล้างเศษอาหารออกทิ้ง

และวันเสาร์เป็นการทิ้งขยะประเภทกระดาษ ที่ต้องพับให้แบนแล้วมัดรวมกันไว้

นี่เป็นเพียงรายละเอียดบางส่วนของวิธีการทิ้งขยะของชาวญี่ปุ่นและผู้ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

สำหรับประเทศไทย จำได้ว่าเมื่อราว 4 ปีที่แล้ว รัฐบาลประกาศให้เรื่อง “ขยะ” เป็นวาระแห่งชาติ

แต่จนถึงวันนี้ยังไม่เห็นแนวทางหรือมาตรการจัดการขยะใด ๆ โดยเฉพาะเรื่อง “แยกขยะ” ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเวลานี้ปัญหาคือประชาชนบางส่วนแยกขยะแห้งขยะเปียก แต่การจัดเก็บขยะของเทศบาลต่าง ๆ

ก็ใช้รถขยะคันเดียวรวมกันหมด ทำให้ปัญหาขยะของประเทศก่อตัวมากขึ้น โดยที่หน่วยงานภาครัฐผู้มีอำนาจไม่ให้ความสำคัญมากพอ