นวัตกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมเป็นมิตร ‘สวล.’

คอลัมน์ มองข้ามชอต

กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

 

การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก แต่การเจริญเติบโตดังกล่าวบางครั้งได้นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางด้านต่าง ๆ ทั้งทางน้ำ อากาศ และดิน สถานการณ์เหล่านี้นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลต่อประชาคมโลกทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักและเริ่มลงมือในการช่วยให้สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมมีการพัฒนาที่ดีควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประกอบกับในปัจจุบันข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศเริ่มเข้ามามีบทบาทและเกิดกระแสกดดันทางการค้า รวมถึงความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคสีเขียวที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการของไทยต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง มุ่งให้ความสำคัญกับการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเข้าสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ด้วยการกำหนดนโยบาย “การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (sustainable manufacturing)” มาใช้ร่วมกับการสร้าง “นวัตกรรม ให้เกิดการแสวงหาหรือสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิมและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรียกว่า “นวัตกรรมสีเขียว (green innovation)

“นวัตกรรมสีเขียว (green innovation)” หมายถึงการสร้างสรรค์หรือการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ หรือการพัฒนาของเดิมให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงกระบวนการผลิต วิธีการทำการตลาด การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรหรือวิธีการทำงานทางธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อก้าวเข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน แม้นวัตกรรมสีเขียวจะถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลายในด้านนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมนั้น แต่แท้จริงแล้วนวัตกรรมสีเขียวยังหมายรวมถึงการใช้นวัตกรรมช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งพนักงานลูกจ้างผู้ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการอีกด้วย

นวัตกรรมสีเขียวสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

1.นวัตกรรมการจัดการสีเขียว (green management innovation) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในองค์กร โดยผู้บริหารและคนในองค์กรร่วมกันวางแผนการดำเนินงานออกแบบการทำงานที่มีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลังงาน

2.นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียว (green product innovation) เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

3.นวัตกรรมกระบวนการสีเขียว (green process innovation) เป็นการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

4.นวัตกรรมบริการสีเขียว (green service innovation) การให้บริการทั้งลูกค้าและบุคลากรในองค์กรอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นวัตกรรมสีเขียวในบริบทของอุตสาหกรรมไทย

จากนโยบายประเทศไทย 4.0 มุ่งสู่การปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รวมทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างตื่นตัวในการนำนวัตกรรมสีเขียวดังกล่าวมาใช้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อธุรกิจอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยนวัตกรรมสีเขียวที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียว (green product innovation) และนวัตกรรมกระบวนการสีเขียว (green process innovation) ซึ่งมีรายละเอียดและตัวอย่าง ดังนี้

1.นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (green product innovation) หมายถึงการสร้างสรรค์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้วให้มีคุณภาพหรือประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

การนำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียวมาใช้ในการผลิตสินค้าก่อให้เกิดผลต่าง ๆ ได้แก่ ลดการใช้วัตถุดิบหรือวัสดุในการผลิตสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ และการลดสารประกอบที่เป็นพิษในผลิตภัณฑ์ ลดการใช้พลังงานในระหว่างการบริโภคสินค้าหรือการใช้ผลิตภัณฑ์และช่วยลดขยะ โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ หรือเป็นวัตถุดิบให้กับการผลิตสินค้าชนิดอื่น โดยนวัตกรรมสีเขียวก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดผลดีหรือลดผลกระทบด้านเสียต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรผลิตภัณฑ์

2.นวัตกรรมกระบวนการสีเขียว (green process innovation) หมายถึงการเปลี่ยนแนวทาง หรือวิธีการการประยุกต์ใช้แนวคิดวิธีการ หรือกระบวนการใหม่ในการลดมลพิษ การจัดการของเสียหรือการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต

มีความสัมพันธ์กับผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรกิจกรรมของนวัตกรรมกระบวนการสีเขียว มีวัตถุประสงค์ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระหว่างกระบวนการผลิตหรือการเพิ่มกระบวนการผลิตใหม่ ๆ โดยใช้ความหลากหลายของเทคโนโลยีเข้ามาร่วมด้วย ตลอดจนการจัดการของเสีย น้ำ วัตถุดิบ และการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ดังนั้น นวัตกรรมกระบวนการสีเขียวส่วนใหญ่มุ่งให้ความสำคัญในการประหยัดพลังงานการป้องกันมลพิษและวัตถุอันตราย และการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ประโยชน์ของนวัตกรรมสีเขียว

นวัตกรรมสีเขียวมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยก่อให้เกิดผลดี ได้แก่

1.นวัตกรรมสีเขียวช่วยลดการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ โดยการนำเอาสินค้าหรือวัสดุที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ (reuse) หรือการนำเข้าสู่การผลิตใหม่เพื่อเป็นวัตถุดิบตั้งต้นให้กับการผลิตชนิดอื่น ๆ (recycle) ซึ่งช่วยลดการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติลง

2.นวัตกรรมสีเขียวช่วยแก้ปัญหาที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม โดยการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการเกิดของเสียอันตรายในระหว่างการผลิต และช่วยลดขยะที่จะฝังกลบหรือทำลายหลังจากที่มีการบริโภคแล้ว

3.นวัตกรรมสีเขียวช่วยพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมนำมาซึ่งผลดี โดยก่อให้เกิดความเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมนำมาซึ่งผลดีโดยก่อให้เกิดความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยากที่จะกลับไปแก้ไขได้ แนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนระหว่างธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และภาคอุตสาหกรรม คือ การนำเอา “นวัตกรรมสีเขียว” มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยเริ่มตั้งแต่การวางแผนในการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การนำนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อให้การใช้วัตถุดิบพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ผลิตภัณฑ์สีเขียวที่ลดการเกิดมลพิษและลดการเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

จะเห็นได้ว่านวัตกรรมสีเขียวก่อให้เกิดผลดีต่ออุตสาหกรรมมากมายในด้านความคุ้มค่าในการช่วยลดต้นทุนทั้งวัตถุดิบและพลังงานในภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนในอนาคตต่อไป