ทิศทาง ดบ.ซ้ำเติมหนี้ครัวเรือน โฟกัส 10 ธุรกิจเติบโตต่ำ-เสี่ยงสูง

คอลัมน์ ดุลยธรรม

โดย ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต

ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความอ่อนไหวมากขึ้นจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่หมดยุคขาลง เปลี่ยนเป็นขาขึ้น โดยเฉพาะหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งล่าสุด เมื่อ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ทั้งที่ในสภาพความเป็นจริงยังไม่จำเป็นปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะจะซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน

แม้เงินเฟ้อไตรมาสแรกปีหน้ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลจากการปรับเพิ่มค่าโดยสารสาธารณะ ราคาพลังงาน และกิจกรรมการเลือกตั้ง แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้มีแรงกดดันหรือมีปัญหาทางด้านเสถียรภาพ จึงมองว่าขณะนี้เร็วเกินไปที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากชะลอตัวลงอีก และอาจเป็นปัจจัยทำให้เงินบาทแข็งค่ากระทบต่อภาคการส่งออก และเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น

การก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรอย่างบ้าน รถยนต์ ฯลฯ จะชะลอตัวลง เช่นเดียวกับการลงทุนเพื่อประกอบกิจการก็อาจชะลอตัวลงด้วย จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ในส่วนของหนี้ภาคครัวเรือน ประเด็นที่หลายฝ่ายแสดงความวิตกกังวล

ขณะนี้ คือ หนี้เฉลี่ยครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากการสำรวจของหอการค้าฯ โดยมูลค่าหนี้อยู่ที่ 3.16 แสนบาทต่อครัวเรือน จะอ่อนไหวในเรื่องความสามารถในการผ่อนชำระมากยิ่งขึ้น จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

ทั้งนี้ ยอดหนี้ภาคครัวเรือนโดยรวมในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่กว่า 12 ล้านล้านบาท อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินในอนาคตได้ จึงน่าจะหาทางป้องกันแก้ไขปัญหาด้วยการทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น เพื่อลดการก่อหนี้

สำหรับนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หากทำได้จะช่วยแก้ปัญหาความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้มีประสิทธิภาพ มากกว่าการดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงิน

โดยสรุป การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต และป้องกันปัญหาฟองสบู่ น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่เร็วเกินไป และอาจซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ แม้ปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 77% จากระดับ 80% เมื่อ 3-4 ปีก่อน

ขณะเดียวกันจากที่คนอีกหลายกลุ่มยังตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก โดยเฉพาะประชาชนในระดับฐานราก และผู้ใช้แรงงาน ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจและค่าครองชีพเวลานี้ คนกลุ่มนี้จึงควรได้รับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเติม และควรมีมาตรการพยุงราคาสินค้าเกษตรเพื่อแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ

ส่วนผู้ใช้แรงงาน กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ที่เพิ่มอัตราชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ใช้แรงงาน จะช่วยบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้ถูกเลิกจ้าง จากที่หลายธุรกิจอุตสาหกรรมอาจเลิกจ้างเพิ่มเติมในปีหน้าได้ระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับกรณีการย้ายสถานประกอบการไปที่อื่น หากลูกจ้างไม่ประสงค์ย้ายตามไป ก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้าง และได้สิทธิชดเชยตามอัตราใหม่เช่นเดียวกัน อย่างลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชย 400 วัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปีหน้ามีแนวโน้มว่าจะมีธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตต่ำมาก มีความเสี่ยงสูง และจะมีการเลิกจ้างพนักงานเพิ่มเติมจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ได้แก่ 1.ธุรกิจอุตสาหกรรมทีวี ทีวีดิจิทัล เคเบิลทีวี สื่อสิ่งพิมพ์และสำนักพิมพ์ต่าง ๆ 2.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายหรือการให้เช่า CD DVD

3.ธุรกิจอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางและปาล์มน้ำมัน 4.สถานศึกษาเอกชน 5.ธุรกิจร้านค้าแบบดั้งเดิม 6.ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานและธุรกิจร้านอินเทอร์เน็ต 7.ธุรกิจหัตถกรรมและเฟอร์นิเจอร์ไม้ 8.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องหนัง 9.เครือข่ายสาขาสถาบันการเงิน 10.เครือข่ายห้างสรรพสินค้า

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!