น้ำท่วม น้ำแล้ง ปัญหาซ้ำซากแก้ไม่ได้ หรือทำไม่ดีพอ ?

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ เปิดมุมมอง โดย อวิรุทธ์ สุขสมอรรถ ทีมกรุ๊ป

 

น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำไม่พอใช้ นับเป็นสาธารณภัยที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ แม้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามหาทางแก้ไข แต่ทำได้แค่ “ตั้งรับ” หรือ “แก้ปัญหาเฉพาะหน้า” เป็นคราว ๆ ไป และดูเหมือนว่าจะยังไม่มีแนวทางที่สามารถป้องกันได้ในระยะยาว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาก็ยังประสบปัญหาซ้ำ ๆ อยู่เสมอ ๆ

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? และเราจะหลุดจากวงโคจรซ้ำซากนี้ได้หรือไม่

“น้ำท่วม น้ำแล้ง” เป็นภัยที่อยู่คู่กับประเทศเรามานาน ส่วนหนึ่งมาจากทำเลที่ตั้งประเทศที่อยู่ในแนวเขตเส้นศูนย์สูตร มีลมมรสุมพัดผ่านหลายลูกต่อปี ทำให้มีฝนมาก แต่อีกส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริหารจัดการและการรับมือกับอุทกภัยยังทำได้ไม่ดีพอ

สาเหตุจากธรรมชาติอาจเลี่ยงได้ยาก เรื่องจะบริหารจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพก็ยากเช่นกัน เพราะปัจจุบันแม้เรามีระบบชลประทาน ระบบควบคุมการระบายน้ำ เขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่ง แต่ยังไม่เพียงพอป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย เพราะพื้นที่ชลประทานมีเพียง 31.25 ล้านไร่ ในขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่กว่า 320 ล้านไร่

อีกทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ของคน เช่น การตั้งชุมชนในที่ราบลุ่มต่ำ ก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ บุกรุกเส้นทางน้ำตามธรรมชาติ ถมคูคลอง และตัดไม้ทำลายป่า ล้วนแต่ส่งผลให้เส้นทางน้ำเปลี่ยน ไม่มีป่าช่วยซับน้ำ น้ำไม่สามารถไหลระบายได้ทัน และทำให้เกิดน้ำท่วมตามมา

ยิ่งไปกว่านั้นปัญหาน้ำแล้ง น้ำไม่พอใช้ เพราะแม้จะมีฝนตกชุก มีแม่น้ำลำคลองหลายสาย แต่ยังไม่สามารถเก็บกักน้ำจำนวนมากนั้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการบุกรุกป่าต้นน้ำ ทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลจนเกิดภัยแล้ง เป็นวงจรซ้ำซากที่เกิดขึ้นตลอด การจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป แยกจากกันไม่ได้

เหตุใดมีฝนตกมาก น้ำมาก แต่กลับมีน้ำไม่พอใช้ ? อันดับแรก ต้องเข้าใจก่อนว่าทรัพยากรน้ำมีจำกัด สมัยก่อนคนยังมีน้อย ความต้องการใช้น้ำก็น้อย แต่พอประเทศโตขึ้นเรื่อย ๆ คนมากขึ้นเศรษฐกิจขยายตัว กิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการใช้น้ำก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่น้ำในแต่ละปีส่วนใหญ่จะมีปริมาณเท่าเดิม ศักยภาพในการกักเก็บน้ำก็เท่าเดิม

การจัดหาน้ำต้นทุนก็ยากขึ้น โอกาสที่จะสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ก็เป็นไปได้ยากเพราะต้องใช้พื้นที่มหาศาล มีแต่โครงการแหล่งเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก และการปรับปรุงห้วย หนอง คลอง บึง ที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ดีขึ้นเท่านั้น

ด้วยข้อจำกัดด้านแหล่งเก็บกักน้ำที่มีไม่เพียงพอ พอหน้าฤดูมรสุม ถ้าฝนตกมากกว่าปกติก็เกิดน้ำล้น ต้องเร่งระบายออก พอระบายออกมากก็เกิดน้ำท่วมตามมาอีก จึงต้องเฝ้าระวังและต้องวางแผนบริหารจัดการในภาพรวมให้ดี

แม้จะมีข้อจำกัดหลายประการ ทำให้ไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างถาวร แต่การบริหารจัดการน้ำเพื่อให้มีน้ำพอกินพอใช้ตลอดปี และไม่สร้างความเดือดร้อนเสียหาย ก็ยังดูมีความหวัง จริงอยู่ที่ไม่อาจป้องกันไม่ให้เกิดภัยจากธรรมชาติได้ แต่การวางระบบบริหารจัดการที่ดีก็จะช่วยลดความสูญเสียให้เบาบางลงได้ เพราะเทคโนโลยีต่าง ๆ เจริญก้าวหน้า มีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ มีการกระจายข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว สามารถแจ้งข่าวทำให้ประชาชนเตรียมการรองรับได้ดี

ผลกระทบจากภัยพิบัติจึงไม่รุนแรงเท่าในอดีต เห็นได้ชัดตอนพายุปาบึก เป็นตัวอย่างที่ดีในการเตรียมการตั้งรับภัยพิบัติ/ทำให้เสียหายน้อยลงกว่าที่ประมาณการไว้มากที่สำคัญ ต้องมีการวางแผนเตรียมการรับมืออย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ เตรียมพร้อมรับมือในยามฉุกเฉิน และมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ ซึ่งที่ผ่านมาเรามักเน้นแต่การช่วยเหลือหลังเกิดเหตุ แต่ก็น่าดีใจที่หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปีི หลายฝ่ายทั้งรัฐ ทั้งเอกชนได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส หันมาให้ความสนใจ ตื่นตัว และหาแนวทางป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติกันอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นเชิงรุกมากขึ้น รวมทั้งมีการเตรียมการที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุจากการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตประเทศไทยเราจะต้องเผชิญกับน้ำท่วม น้ำแล้ง อีกกี่ครั้ง

แต่อย่างน้อย เรามั่นใจได้ว่าด้วยประสบการณ์ เทคโนโลยี การเตรียมพร้อม และความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะช่วยให้เราสามารถจัดการรับมือกับภัยพิบัติได้ และทำให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี