เสริมแกร่งธุรกิจค้าปลีก ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน

คอลัมน์ มองข้ามชอต

โดย ปราณิดา ศยามานนท์ ผู้จัดการคลัสเตอร์บริการ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

 

ทุกวันนี้หลายคนคงจะเริ่มรู้จักกับเทคโนโลยีบล็อกเชนมากขึ้น เนื่องจากได้นำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายธุรกิจนอกเหนือจากธุรกรรมด้านการเงินที่คนทั่วไปรู้จักกันดี อย่างเช่นการโอนเงินสกุลดิจิทัลต่าง ๆ โดยบล็อกเชนเป็นรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลในแต่ละ block ที่เชื่อมโยงกันบนเครือข่ายเหมือนกับห่วงโซ่ โดยข้อมูลที่บันทึกต่อกันเช่นนี้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือลบได้ เพราะทุกคนจะมีประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมด ทำให้ช่วยยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

จากหลักการของเทคโนโลยีบล็อกเชนดังกล่าว ธุรกิจค้าปลีกเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สามารถใช้ประโยชน์จากบล็อกเชนเพื่อเสริมการดำเนินธุรกิจได้หลายด้าน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าและซัพพลายเออร์ มาจนถึงผู้ส่งสินค้า ตัวกลางชำระเงิน มายังปลายน้ำ คือ ผู้บริโภค

ในกระบวนการเหล่านี้ล้วนมีข้อมูลและเกิดความเชื่อมโยงของธุรกรรมต่าง ๆ ที่สามารถอาศัยประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้มากขึ้น สะท้อนได้จากแนวโน้มการลงทุนในบล็อกเชนด้านค้าปลีกของโลกที่เติบโตแบบก้าวกระโดด

ทั้งนี้ Marketsand Markets ซึ่งเป็นสำนักวิจัยชั้นนำของโลกคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดบล็อกเชนของธุรกิจค้าปลีกของโลกมีแนวโน้มเติบโตถึงราว 96% ต่อปีในช่วงปี 2018-2023 มาอยู่ที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 สะท้อนได้จากการที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำหลายแห่ง อาทิ Amazon Web Services (AWS), IBM และ Microsoft ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับบล็อกเชนในธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่แอปพลิเคชั่นสำหรับใช้ในการบริหารจัดการซัพพลายเชนของผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกรรมของธุรกิจค้าปลีก

ในยุคที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้ามากขึ้น ผู้ประกอบการค้าปลีกมีแนวโน้มนำเอาบล็อกเชนมาเป็นเครื่องมือ สำหรับตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร โดยผู้ซื้อสามารถสแกน QR code จากฉลากสินค้า ซึ่งจะมีข้อมูลที่บันทึกต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ ผู้ขนส่ง จนมาถึงร้านค้า ทำให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบข้อมูลว่า สินค้ามีที่มาจากแหล่งผลิตใด และส่งผ่านมาอย่างไร ก่อนถึงมือผู้บริโภค

ตัวอย่าง เช่น Walmart นำเอาบล็อกเชนมาใช้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากจีน เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัยของสินค้า นอกจากนี้ บล็อกเชนยังถูกนำมาใช้ยืนยันว่า สินค้าเป็นของแท้ 100% ตัวอย่าง เช่น การประยุกต์ใช้ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ปัญหาที่พบบ่อยสำหรับการค้าออนไลน์ คือ สินค้าลอกเลียนแบบ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากผู้บริโภคจะไม่เห็นสินค้าจริง จนกว่าจะได้รับสินค้า ผู้ประกอบการอย่าง JD.com และ Alibaba จึงนำเอา AI และบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้า โดยอาศัยเครื่องมืออย่าง QR code และอุปกรณ์ RFID ติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้า

โดยทุกครั้งที่สินค้ามีการเปลี่ยนมือ เช่น จากโรงงานไปถึงคลังสินค้า สินค้าจะถูกสแกนข้อมูลอย่างละเอียดทุกครั้ง ทั้งเวลาและสถานที่ และเมื่อสินค้าถึงมือผู้ซื้อ ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบถึงที่มาของสินค้าได้ทันทีผ่านแอปพลิเคชั่นของ JD หรือ Alipay ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อมีความมั่นใจในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น

ไม่เพียงแต่การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้า ผู้ค้าปลีกยังสามารถนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการสร้างความผูกพันกับลูกค้า โดยอาจนำมาใช้ปรับปรุงการให้บริการผ่าน loyalty programs ต่าง ๆ โดยร่วมกับผู้ค้าปลีกรายอื่น ๆ รวมถึงสถาบันการเงิน เพื่อนำเสนอสิทธิประโยชน์ อาทิ การแลกรีวอร์ดผ่านเครือข่ายที่ร่วมกันเป็น partner โดยข้อมูลการซื้อสินค้าจะถูกจัดเก็บอยู่ในระบบบล็อกเชน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่อยู่ในเครือข่ายสามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูลได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาในการตรวจสอบข้อมูล ทำให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งยังต่อยอดนำเอาข้อมูลการซื้อสินค้าและการใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอโปรโมชั่นให้ลูกค้าเป็นรายบุคคลได้อีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถใช้บล็อกเชนในการให้บริการหลังการขาย อาทิ การรับประกันสินค้าเพื่อให้บริการหลังการขายมีความสะดวกรวดเร็วและลูกค้าพึงพอใจในการใช้บริการมากขึ้น

นอกจากนี้ บล็อกเชนยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารคลังสินค้า โดยข้อมูลสินค้าไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้แต่เพียงแค่ในบัญชีคลังสินค้าเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการสามารถเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณสินค้าในคลังสินค้ากับส่วนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ ผู้จัดส่งสินค้า ไปจนถึงร้านค้าปลีก ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เนื่องจากทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชนจะทราบถึงปริมาณสินค้าคงคลังในขณะนั้น โดยผู้ผลิตสามารถวางแผนการผลิตได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ผู้จัดส่งสินค้าสามารถวางแผนการจัดส่งสินค้าเพื่อให้มีสินค้าในคลังสินค้าอย่างเพียงพอ ขณะที่ร้านค้าจะมีสินค้ามาเติมในชั้นวางได้สม่ำเสมอ สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อ

ตัวอย่าง เช่น T Mall ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ได้ร่วมกับ Cainiao ซึ่งเป็นบริษัทโลจิสติกส์รายใหญ่ของจีนในการนำเอาบล็อกเชนมาใช้ติดตามการนำเข้าสินค้าข้ามพรมแดน โดยจะเป็นการเชื่อมต่อข้อมูลตั้งแต่ประเทศต้นทางที่ส่งสินค้า ท่าเรือที่ใช้ในการจัดส่ง วิธีการส่งออก ตลอดจนข้อมูลด้านศุลกากร ซึ่งจะช่วยให้การจัดส่งสินค้ารวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แม้ว่าบล็อกเชนจะเป็นเทคโนโลยีที่ผู้ประกอบการค้าปลีกสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายด้าน แต่ยังมีความท้าทายบางประเด็นที่ต้องระมัดระวัง อาทิ ความน่าเชื่อถือของบล็อกเชนในหมู่ผู้ใช้งาน เนื่องจากข้อมูลในบล็อกเชนจะถูกส่งต่อไปยังทุกคนในระบบที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นระบบการเก็บข้อมูลที่ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลชุดก่อนหน้าได้

ดังนั้น ข้อมูลที่ใส่เข้ามาในระบบครั้งแรกจึงควรต้องมีความถูกต้อง ซึ่งความน่าเชื่อถือของผู้ใช้งานในระบบจึงมีความสำคัญ โดยหากมีข้อมูลในส่วนที่ผู้ประกอบการไม่ต้องการให้ทุกคนในระบบเห็น ควรเลือกใช้บล็อกเชนระบบปิด

นอกจากนี้ การนำเอาบล็อกเชนมาใช้ยังต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของการใช้งานด้วย เนื่องจากข้อมูลในระบบจะต้องเป็นข้อมูลที่มีการถูกจัดเก็บซ้ำ ๆ ในคอมพิวเตอร์จำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นระบบที่พึ่งพาการยืนยัน หรือตรวจสอบข้อมูลจากผู้ใช้ภายในระบบ ดังนั้นจำนวนผู้ยืนยันในระบบจึงควรต้องมีมากพอ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการตรวจสอบ

ในยุคที่ธุรกิจค้าปลีกแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้นทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนจึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ผู้ประกอบการค้าปลีกควรให้ความสำคัญมากขึ้นในอนาคต

เนื่องจากจะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการบริหารจัดการซัพพลายเชนแล้ว บล็อกเชนยังจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมการเพิ่มยอดขาย ทำการตลาด และสร้างความผูกพันกับลูกค้าในอนาคตได้อีกด้วย