ไลฟ์สไตล์เจ้าสัว “ธนินท์”

เครดิตภาพจาก Openbooks

คอลัมน์สามัญสำนึก / อิศรินทร์ หนูเมือง

อ่าวตะวันออกกำลังเป็น front line ของการลงทุนในเอเชีย
ด้วยการเปิดประมูล 4 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ มูลค่ามหาศาล 6.5 แสนล้าน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี
 
2 ใน 4 โครงการ มีความเป็นไปได้ที่จะตกอยู่ในอาณาจักร “เจริญโภคภัณฑ์” หรือ “ซี.พี.”
 
ธนินท์ เจียรวนนท์ ในวัย 80 นักธุรกิจผู้มองเห็นอนาคต เป็น 1 ในผู้กุมชะตาการลงทุนประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า
เพราะเขาและพันธมิตรนักลงทุน-นักการเงิน จากมหาอำนาจจีนและยักษ์ญี่ปุ่น คือผู้ครอบครองสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าลงทุน 224,544.36 ล้านบาท ซึ่งรอลงนามในสัญญากลางเดือนมิถุนายนนี้
อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 3 ราย ที่ร่วมชิงประมูลเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าลงทุน 290,000 ล้านบาท ในนาม “กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร”
“เจ้าสัวธนินท์” ผู้ครอบครองเครือเจริญโภคภัณฑ์ นั้นมั่งคั่งที่สุดในประเทศไทย อันดับ 1 ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 2.95 หมื่นล้านเหรียญ (9.41 แสนล้านบาท)
“ธนินท์” ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เพิ่งประกาศวางมือจากกิจการอาหารเรือธงของตระกูล มากว่า 25 ปี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
 
1 เดือนถัดมา เจ้าสัวก็ถอดหมวกจากประธานกรรมการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของขุมข่ายธุรกิจร้าน 7-Eleven มีร้านสาขาทั่วไทย-ไปทั่วโลก 65,000 แห่ง
“ธนินท์” ถอยมาเป็นกุนซือเต็มตัว พบปะ-คบหากับบุคคลทุกระดับ ต่อเติมจากพันธมิตรส่วนตัว มีตั้งแต่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีจีน แม้กระทั่งกับเติ้ง เสี่ยว ผิง
เป็นที่ขึ้นชื่อว่า “ซี.พี.” มีหลักบริหารบุคคลและพันธมิตรธุรกิจ ด้วยการพิจารณา “โหงวเฮ้ง” หรือนรลักษณ์ศาสตร์
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักเขียนเจ้าปัญญา เคยถามท่านประธานธนินท์ว่า “ถ้าซินแสหลายคนให้คำแนะนำไม่ตรงกันจะทำอย่างไร”
คำตอบของมังกรใหญ่ผู้มั่งคั่ง คือ “เราต้องตัดสินใจเอง…เราอาจดูฤกษ์ยามได้ แต่ถึงยามนั้น เราต้องประมวลผลและตัดสินใจเอง” ภิญโญบันทึกคำตอบไว้ในหนังสือ PRESENT-ปัญญาจักรวาล แห่งสำนักพิมพ์ Openbooks
กลุ่ม ซี.พี.ผ่านคลื่นมรสุมธุรกิจมาหลายลูก ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง จนถึงยุคดิสรัปชั่น ปรับโครงสร้างธุรกิจ ขึ้นมายืนที่หนึ่ง
เจ้าสัวเล่าว่า “เวลาดวงตก มันตกจริง ๆ ธุรกิจเสียหายไปทุกประเทศ เป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก ซึ่งเราต้องใช้ความอดทนมาก จึงฟันฝ่ามาได้”
ทุกวันนี้ เจ้าสัว ซี.พี.ยังคงมองหาโลกธุรกิจแห่งอนาคต สนใจความเคลื่อนไหวของโลก ทั้ง AI-บล็อกเชน-ฟู้ดเทค
“บางครั้งเมื่อย้อนคิดแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องโชคชะตาจริง ๆ” เขาเชื่อว่า “การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี มีอิทธิพลเหนือกว่าดวงชะตา เราจึงไม่อาจพึ่งพาซินแส ในการรับมือกับกระแสเช่นนี้”
เจ้าสัวสอนคนรุ่นใหม่ให้ “เป็นผู้นำ ต้องเสียงดัง ฟังชัด คิดชัด สื่อสารชัด จึงจะทำงานจัดการได้”
แม้ถอยหลังมานั่งเป็นกุนซือ แต่ยังคงเดินทางทำงานทั่วโลกด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว
“ลูกหลานอยากให้ผมหยุดทำงาน แต่ผมไม่อยากหยุด เพราะผมสนุกกับการทำงาน การทำงานคือการพักผ่อนสำหรับผม”
ไลฟ์สไตล์ของเจ้าสัวผู้มั่งคั่งนั้นเรียบง่าย เดินเท้าวันละ 8,000 ก้าว กินข้าวมื้อละไม่กี่คำตามสัดส่วน ดื่มไวน์เล็กน้อยตามมารยาทสังคม
ยามบ่ายดื่มกาแฟเติมพลังงานด้วยรสหวาน จาก “สูตรเฉพาะตัวเจ้าสัวธนินท์” คือ ใช้นมร้อนชงแทนน้ำ
ภารกิจรับแขกนักคิด-นายทหารระดับสูง นักธุรกิจจากทั่วโลก ทำให้บางวันล่วงเลยถึงห้าทุ่ม ถึงจะกลับออกจากสำนักงานย่านสีลม
เมื่อถึงเวลาพัก ท่านประธานธนินท์วางปัญหาทั้งหมดไว้ที่ออฟฟิศ หากไม่มีภารกิจ เจ้าสัวจะเข้านอนตอนห้าทุ่ม หลับคืนละหกชั่วโมงครึ่ง
เคล็ดลับการหลับของเจ้าสัวนั้น ต้องฝึกถึงขั้น จึงข่มตา-ข่มใจได้ “เราต้องฝึกละวางความแค้น ให้อภัยผู้คน และไม่ถือโกรธผู้ใด”
นี่จึงทำให้ชื่อ “ธนินท์” เศรษฐกิจอันดับ 1 ติดอยู่ในแถวเดียวกับบุคคลชั้นนำ ผู้มีใจอันเป็นกุศลของเมืองไทย และอยู่ในสปอตไลน์ข่าวอันเป็นมงคลยิ่ง